รถไฟฟ้า "เตาปูน-บางซื่อ" โกลาหล "1 สถานี" จ่ายค่าเดินทางกระเป๋าฉีก

Cr. รายงานพิเศษ ประชาชาติธุรกิจ 20 พฤษภาคม 2559

หลังรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง "บางใหญ่-เตาปูน" 23 กม. ดีเดย์เปิดให้ประชาชนนั่งฟรีในเดือน มิ.ย.-ก.ค. และเปิดหวูดอย่างเป็นทางการแบบเก็บค่าโดยสารในวันที่ 6 ส.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน

สิ่งที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ คือ คอขวดช่วง "เตาปูน-บางซื่อ" ยังขาดการเชื่อมต่อ คาดว่าจะลากยาวถึงกลางปีหน้า

จัดรถเมล์-รถไฟเสริม

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ล่าสุด "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้กำหนดแผนการเดินทางสำหรับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ 2 แนวทาง

1.จัดช่องทางเดินรถพิเศษสำหรับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนและบางซื่อ ซึ่ง รฟม.ได้เจรจาเบื้องต้นกับ ขสมก.เพื่อจัดหารถโดยสารให้บริการระหว่าง 2 สถานี จำนวน 12 คัน ระยะเวลารอบวิ่งแต่ละคันทุก 4 นาที รองรับปริมาณผู้โดยสารประมาณ 3,630 คัน/ชั่วโมง

2.ประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อจัดการเดินรถไฟเชื่อมต่อระหว่างสถานีบางซ่อน-บางซื่อ จำนวน 1 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 600 คน/ขบวน ซึ่งทาง รฟม.ได้ก่อสร้างทางเดินเชื่อม (Sky Walk) ระหว่างสถานีบางซ่อนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสถานีบางซ่อนของ ร.ฟ.ท.ไว้แล้ว

รอสรุปค่าโดยสาร

"ส่วนการเก็บค่าบริการนั้น ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างพิจารณาจะให้รัฐออกให้หรือจัดเก็บจากประชาชนที่ใช้บริการ" คำอธิบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เห็นภาพจริง ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจการเดินทางช่วง 1 สถานี "บางซื่อ-เตาปูน" มีระยะทางประมาณ 1 กม. พร้อมคำนวณเวลาและค่าใช้จ่ายที่ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจะต้องควักกระเป๋าจ่ายในระหว่างรอให้รถไฟฟ้า 2 สี 2 สายเชื่อมต่อกัน

ปฏิบัติการเริ่มออกสตาร์ตจากรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือสายสีน้ำเงินเดิม ที่ "สถานีจตุจักร" จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ที่ปัจจุบันมีโครงข่ายไปถึง "แบริ่งและบางหว้า" เพื่อมุ่งหน้าไป "สถานีบางซื่อ" โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 นาที เสียค่าโดยสาร 19 บาท

เมื่อรถไฟฟ้าจอดป้าย ใช้ทางออกหมายเลข 1 และ 2 ใช้เวลาเดินออกจากสถานีอย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไป พอออกจากสถานี จะมีวินมอเตอร์ไซค์และรถเมล์ ขสมก.ที่วิ่งเข้ามารับส่งคนที่สถานีบางซื่อ ทั้งรถร้อนและปรับอากาศ อาทิ สาย 70, 52, 97

ค่าวินมอเตอร์ไซค์ 20-25 บาท

สำหรับค่าการเดินทางในช่วงนี้ หากเลือกใช้บริการ "มอเตอรไซค์" ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 นาที ถึงสถานีเตาปูน เสียค่าโดยสาร 20-25 บาท ส่วนใครจะนั่งรถเมล์ ขสมก. หากไม่ติดไฟแดงก็ 5 นาทีโดยประมาณถึงที่หมาย ค่าบริการหากรถเมล์ร้อน 6.50 บาท รถเมล์ปรับอากาศก็เริ่มต้นที่ 11-12 บาท

แต่ถ้าหากไม่อยากจะเสียเงินหลายต่อ ก็สามารถใช้วิธีการเดินได้ แต่จะค่อนข้างลำบากสักนิด เพราะโดยกายภาพของพื้นที่เป็นสะพานสูงและมีคลองขวางกั้น

วันนั้นทีมข่าวลองใช้วิธีการเดินเท้าจากรถไฟฟ้าใต้ดิน มุ่งหน้าไปสถานีเตาปูน เดินไปตามถนนเทอดดำริ เลาะรั้วบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เมื่อถึงหน้าบริษัท จะต้องลอดใต้สะพาน เดินขึ้นบันได เพื่อข้ามคลองเปรมประชากร

เดินเท้า 1 กม. 15 นาที

จากนั้นเดินไปตามฟุตปาทของถนนที่ค่อนข้างคับแคบ ตรงไปข้ามแยกไฟแดง เดินต่อไปอีก 100 เมตร ถึง "สถานีเตาปูน" สถานีต้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ไปสุดทางที่คลองบางไผ่ ใช้เวลาในการเดิน 10-15 นาที

นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่อยากประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดถึงจะลดไปได้ไม่มากแต่ถ้าต้องเดินทางทุกวันก็มีมูลค่าอยู่ไม่น้อย

ผู้ใช้รถไฟฟ้าอ่วมเสีย 2 ต่อ

เพราะเมื่อดูจากอัตราค่าโดยสารสายสีม่วงที่ "รฟม." เตรียมเสนอให้ "ครม.-คณะรัฐมนตรี" อนุมัติ เริ่มต้นที่ 14-42 บาท และหากใช้รถไฟฟ้าใต้ดินก็ต้องเสียเพิ่มอีก 16-42 บาท เท่ากับเสียค่าเดินทาง 2 ต่อ เพราะการเดินรถไฟฟ้ายังไม่เชื่อมกัน

นั่นหมายความว่าหากใช้รถไฟฟ้าตลอดเส้นทางทั้ง 2 สาย จะต้องเสียค่าโดยสาร 84 บาท/เที่ยว และถ้าไป-กลับจะเสียอยู่ที่ 168 บาท

ยังไม่รวมค่า "รถเมล์-แท็กซี่-มอเตอร์ไซค์" ที่อาจจะต้องใช้บริการเพื่อเดินทางไปและกลับจาก "เตาปูน-บางซื่อ" รวมถึงค่าที่จอดจรของสายสีม่วงที่เก็บอัตรา 2 ชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไปเก็บเพิ่ม 5 บาท/ชั่วโมง และค่าโดยสารบีทีเอสอีก 15-62 บาท

ทั้งนี้ "พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล" ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า เมื่อการเดินรถ 1 สถานีเชื่อมกันแล้ว ผู้ใช้บริการจะเสียค่าโดยสารถูกลง เนื่องจากจะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว คืออัตราเริ่มต้นของสายสีม่วง 14 บาท และบัตรโดยสารจะใช้ใบเดียว เป็นบัตรรูปแบบใหม่และบัตร MRT พลัส ที่สามารถใช้ได้ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและสายสีม่วง

บางใหญ่-หัวลำโพงไม่เกิน 70 บ.

"หากนั่งจากบางใหญ่ถึงหัวลำโพง ค่าโดยสารจะไม่เกิน 70 บาท เพราะไม่คิดค่าแรกเข้า 16 บาทของรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งรัฐจะรับภาระค่าส่วนต่างให้" ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวและว่า

ทั้งนี้ในอนาคตหากระบบตั๋วร่วมเริ่มใช้งาน จะยิ่งทำให้การเดินทางด้วยตั๋วใบเดียวสะดวกมากขึ้น ขณะที่ค่าโดยสารอาจจะถูกลง เมื่อไม่เก็บค่าแรกเข้าหลายต่อ คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้จะเริ่มใช้บริการได้

แต่กว่าวันนั้นจะมาถึง ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่ผู้โดยสารต้องรับภาระต้นทุนค่าเดินทางที่เพิ่ม นอกจากจะบริหารเงินในกระเป๋า ยังต้องบริหารเวลาการเดินทางที่ต้องฝ่าวิกฤตรถติดช่วงมีปัญหา อย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าจะถึงสถานี "บางซื่อ หรือเตาปูน" จุดต้นทางที่จะไปยังจุดหมายปลายทาง

นี่คือความจริงที่ "รัฐบาล คสช." น่าจะใช้เป็นบทเรียนในการบริหารรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะ "ระบบตั๋วร่วม" ที่เงื้อง่ามานานถึงขณะนี้ยังไม่คลอด หากเร่งรัดได้ก็น่าจะให้เห็นผลทันทีภายในปีนี้

ถึงจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง