Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 กุมภาพันธ์ 2559
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาชะลอตัว แต่ยอดค้าชายแดนกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่า 377,000 ล้านบาท ในปี 2547 จนเป็น 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 7% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย
เป็นที่มาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 เขต 10 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และสงขลา เพื่อสร้างความร่วมมือและเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างจริงจัง และมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์
10 เขตเชื่อมอาเซียน
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ คณะอนุกรรมการด้านการตลาดฯมีกำหนดจัดงาน "OPEN HOUSE" ขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อเชิญนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้ประกอบการ นักลงทุน เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงแผนงานภายใต้นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย ก่อนที่จะนำคณะลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วในวันที่ 1-2 มีนาคม 2559 เพื่อรับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมทั้งแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ คู่มือการลงทุน 80,000 เล่ม ไปยังนักลงทุนในประเทศต่างๆ
โดยจะชี้ให้เห็นว่าการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดของรัฐบาล มุ่งเน้นไปในพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อและเป็นเป้าหมายของการพัฒนาภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคใน 10 จังหวัด เช่น ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน และเอเชียใต้
ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย สงขลา และนราธิวาส สามารถเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและตราดตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม "Tourism Gateway" บนเส้นทาง R1 และเส้นทางท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของภูมิภาคบนเส้นทาง R12
อัดสิทธิประโยชน์เพียบ
หลังจากนั้นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ออกประกาศกำหนดประเภทกิจการที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรก ประกอบด้วย 23 หมวดกิจการ รวม 72 ประเภทย่อย และระยะที่ 2 ใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 62 ประเภทย่อย
โดยรัฐให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ณ จุดเดียว สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ของวงเงินลงทุน ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุน 50% เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้จะไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน แรงงานต่างด้าว และพื้นที่ให้เช่า และมาตรการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เป็นต้น
ไม้ต่อไปหลัง "OPEN HOUSE" กระทรวงอุตสาหกรรม" จะรับหน้าที่ประสานงานกับนักลงทุน เพื่อยกระดับเขตพัฒนาเศรษฐกิจฯ Economic Gateway ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต