Cr. ประชาชาติธุรกิออนไลน์ 9 กุมภาพันธ์ 2559
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 ก.พ. 2559 มีมติอนุมัติปรับกรอบวงเงินรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต ) ระยะทาง 26 กม. เพิ่มจำนวน 18,402 ล้านบาท จากเดิม 75,548 ล้านบาท เป็น 93,950.58 ล้านบาท และอนุมัติปรับกรอบวงเงินสัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมรถไฟฟ้า จาก 25,656.57 ล้านบาท เป็น 32,399.99 ล้านบาท ตามผลการเจรจากับกลุ่มร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิเฮฟวี่-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) ผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้
สำหรับวงเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับแบบก่อสร้างจาก 3 รางเป็น 4 ราง ทำให้งานสัญญาที่ 1-3 มีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 8,104 ล้านบาท แยกเป็นสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ อาคารซ่อมบำรุงและสถานีจตุจักร มีกลุ่มกิจการร่วมค้าเอสยู (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วงเงิน 4,315 ล้านบาท จากเดิม 29,826 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 งานทางวิ่งรถไฟยกระดับและระดับดิน พร้อมอาคารสถานี 6 สถานี ได้แก่ บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง และรังสิต มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 3,352 ล้านบาท จากเดิม 21,235 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 วงเงิน 473 ล้านบาท จากเดิม 32,399 ล้านบาท
"โดยครม. มอบให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมให้กับรถไฟภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ จะเป็นเงินกู้จากไจก้า 91% อีก 9% เป็นเงินกู้ในประเทศ วงเงิน 5,897.22 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนที่ใช้ในการซื้อขบวนรถมาวิ่งให้บริการสำหรับช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน"
ทั้งนี้ งานสัญญาที่ 3 หลังเซ็นสัญญาจะใช้เวลาดำเนินการ 48 เดือนหรือประมาณ 4 ปีในการติดตั้งราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการสื่อสารและจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ซึ่งงานส่วนนี้ล่าช้ามาร่วม 4 ปีนับจากเปิดซองราคาในปี 2554 ทางร.ฟ.ท.จะต้องเร่งรัดให้เร็วขึ้น รองรับกับงานก่อสร้างที่ขณะนี้ทั้งโครงการคืบหน้าไปมาก โดยงานสัญญาที่ 1 มีผลงานก้าวหน้าประมาณ 40% และสัญญาที่ 2 คืบหน้าประมาณ 57% คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2562
นอกจากนี้ ทางนายกรัฐมนตรี(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มีข้อสั่งการมายังกระทรวงคมนาคม 3 ข้อ ได้แก่ 1.เร่งจัดตั้งกรมราง โดยให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถและใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2. เร่งให้ร.ฟ.ท.สำรวจพื้นที่ข้างทางในการสร้างที่อยู่อาศัยตามสถานีต่างๆ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางรถไฟเพื่อหารายได้ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ และ 3. เจรจากับประชาชนที่อยู่บริเวณรังสิต ที่มีปัญหาการเข้า-ออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟชานเมืองที่ผู้รับเหมาปิดทางเข้าออกทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในระหว่างก่อสร้าง