ช.การช่าง-บีทีเอส-ซิโนไทยจัดทัพรับลงทุน ชิงเค้กประมูล 1.3 แสนล้านรถไฟฟ้า 3 สาย "คมนาคม"เคาะ ก.พ. 59

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 ธันวาคม 2558

2

คมนาคมจุดพลุ PPP รถไฟฟ้า 3 สาย "น้ำเงิน-ชมพู-เหลือง" มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้าน "ช.การช่าง" จัดทัพใหม่ควบรวมทางด่วน+รถไฟฟ้า ชิงดำสัมปทานเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางและถนน "บีทีเอส" เผยพร้อมสุดขีดคนและเงินทุน 6.8 หมื่นล้าน รอรัฐเปิดประมูล "ซิโน-ไทยฯ" จีบจีน-ญี่ปุ่น ลงขันโมโนเรล รฟม.ร่อนหนังสือถึงเอกชนไทย-เทศทดสอบความสนใจโครงการเคาะ ก.พ. 59

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ธ.ค. 2558 เห็นชอบการควบรวมของ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ผู้รับสัมปทานทางด่วน และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อตั้งบริษัทใหม่ คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะช่วยเพิ่มศักยภาพของบริษัทไทยขยายธุรกิจก่อสร้างและบริหารสัญญาสัมปทานภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556

ซึ่งรัฐบาลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP Fast Track รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และระบบค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี
"บริษัทใหม่จะรับโอนสัมปทานทางด่วน 3 สาย คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี และทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน และสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ส่วนโครงการใหม่อยู่ที่ผลคัดเลือก"


ควบรวมทางด่วน-รถไฟฟ้าฉลุย
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 28 ธ.ค.นี้จะเชิญผู้ถือหุ้น 2 บริษัทประชุมรับทราบผลของ ครม. และขอจดทะเบียนบริษัทใหม่ให้เสร็จวันที่ 30 ธ.ค.นี้ มีทุนจดทะเบียน 15,285 ล้านบาท รายได้รวม 11,657 ล้านบาท มาจาก BECL จำนวน 8,683 ล้านบาท และ BMCL จำนวน 2,974 ล้านบาท ซึ่ง ช.การช่างจะถือหุ้นในบริษัทใหม่ 30%
"หลังควบรวมบริษัทจะใหญ่ขึ้น มีศักยภาพแข็งแกร่งเพื่อรับงานใหญ่ที่รัฐจะให้เอกชนเข้าร่วม PPP ทั้งระบบรางและถนน เราจะเป็นทั้งผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการ"
ปัจจุบันทางด่วนเริ่มเติบโตน้อยลง เพราะไม่มีการลงทุนใหม่ ในรอบ 20 ปีมีสายเดียว คือ สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก แต่ BECL มีฐานะการเงินดี ขณะที่รถไฟฟ้ามีโอกาสเติบโตสูงจากการที่รัฐบาลมีแผนลงทุนส่วนต่อขยาย เช่น สีน้ำเงิน ส้ม ชมพู เหลือง ม่วงใต้ ไฮสปีดเทรน แต่บริษัทรายได้น้อยและยังขาดทุน ทาง ช.การช่างจึงต้องปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่รองรับการขยายงานการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เมียนมา ลาว เพราะจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ช.การช่างลุยธุรกิจครบวงจร
"การลงทุนในสัมปทานระบบสาธารณูปโภคใช้เวลานาน ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าเป็นธุรกิจพื้นฐานสำคัญของประชาชน ที่ผ่านมา ช.การช่างมีรายได้จากการก่อสร้างและลงทุนในบริษัทลูกที่รับสัมปทานสาธารณูปโภค ซึ่งบริษัทใหม่จะเปลี่ยนมิติการทำธุรกิจเป็นบริษัทครบวงจร รับทั้งงานรถไฟฟ้า ทางด่วน และต่อยอดธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้"
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ กล่าวว่า หลังเปิดใช้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกและรถไฟฟ้าสายสีม่วง กลางปี 2559 จะทำให้สินทรัพย์ของบริษัทใหม่อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 74,767 ล้านบาท คาดว่าปี 2560 บริษัทจะมีรายได้จากทางด่วนใหม่ 1,800 ล้านบาท

BTS เตรียมคน-เงินทุนพร้อม
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมทั้งคนและเงินทุนที่จะเข้าไปลงทุนโครงการรถไฟฟ้าตามที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด ทั้งการเดินรถสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ลงทุนก่อสร้างและเดินรถสายสีชมพูและสีเหลือง การเดินรถขนส่งสินค้ารถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-แหลมฉบัง ซึ่งบริษัทสนใจลงทุนให้รัฐบาลก่อนทั้งก่อสร้างและเดินรถ
"บริษัทมีเงินสดพร้อมลงทุน 2 หมื่นล้านบาท และสิทธิการออกหุ้นกู้อีก 4.8 หมื่นล้านบาท รวม 6.8 หมื่นล้านบาท จะรองรับการลงทุนโครงการเป็นแสนล้านบาท รอดูเงื่อนไขทีโออาร์ที่รัฐบาลจะกำหนด"

ซิโน-ไทยฯดึงจีน-ยุ่นลงขัน
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จะก่อสร้างเป็นระบบโมโนเรล และให้เอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและเดินรถในสัญญาเดียว
"คุยกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น เพราะเราไม่มีประสบการณ์เดินรถ แต่เชี่ยวชาญงานโครงสร้างรถไฟฟ้า"

รฟม.ทดสอบความสนใจเอกชน
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการด้านกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือแบบทดสอบความสนใจ ส่งไปยังเอกชนเป็นผู้ผลิตและเดินรถไฟฟ้า รวมถึงผู้รับเหมากว่า 10 บริษัท เช่น บีเอ็มซีแอล บีทีเอส ช.การช่าง อิตาเลียนไทย ซีเมนส์ และบริษัทญี่ปุ่น เพื่อถามความคิดเห็นรูปแบบการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้า 3 สายทาง มูลค่ารวมกว่า 1.31 แสนล้านบาท ได้แก่ สีชมพู 56,725 ล้านบาท สีเหลือง 54,768 ล้านบาท และสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กว่า 2 หมื่นล้านบาท ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจะลงทุนแบบ PPP Fast Track เพื่อสรุปข้อมูลเสนอคณะกรรมการPPP พิจารณาเดือน ก.พ. 2559