Cr. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 6 มกราคม 2559
“รถไฟฟ้า” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลให้มีความสุขในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเคยประกาศตั้งเป้าจะพยายามเปิดประมูลและก่อสร้างให้ได้ปีละ 1 เส้นทาง
ในปี 2558 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อรองและเซ็นสัญญาบริษัทรับเหมาก่อสร้างสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงิน 2.87 หมื่นล้านบาท และเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าเพียงสายเดียวที่เดินหน้าก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และภายใต้รัฐบาล คสช.
ทั้งๆที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ รฟม.เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการให้สามารถเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป ซึ่งปัจจุบัน รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ จำนวน 6 สายทาง 13 โครงการ (ระยะทางรวม 251 กม.) โดยมีโครงการที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันได้แก่ รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล(บางซื่อ-หัวลำโพง)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 21.1 กม. (ใต้ดิน 12.1 กม. / ยกระดับ 9 กม.)มี 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี / ยกระดับ 7 สถานี) มูลค่าก่อสร้างกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคาเดือนเมษายน 2559 กำหนดเปิดให้บริการปี 2565 ทั้งนี้ ครม. ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมและค้ำประกันเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้าง ค่าโพรเฟสชันซัมและค่าจ้างที่ปรึกษาภายใต้กรอบวงเงิน 85,483 ล้านบาท พร้อมกับให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณประจำปีให้เป็นรายได้แก่รฟม.ให้เพียงพอต่อการบริหารงาน การลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกทั้งยังคาดว่ารถไฟฟ้าสายอื่นๆจะได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปี 2559 ที่รฟม.จ่อนำเสนอครม.อีกไม่น้อยกว่า 3 เส้นทาง