Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2559
นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ ประธานคณะทำงานประสานงานภัยพิบัติด้านอัคคีภัย สภาวิศวกร เปิดเผยว่า กรณีเพลิงไหม้อาคาร 9 ชั้น ถ.นราธิวาส 18 จากการเข้าตรวจสอบพบว่าเป็นอาคารสูงขออนุญาตก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2535 จึงขาดมาตรการป้องกันอัคคีภัยที่สำคัญ อาทิ ไม่มีระบบสปริงเกลอร์หรือระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ท่อยืนระบบส่งน้ำดับเพลิง บันไดปิดล้อมทนไฟอย่างน้อย 2 บันได ระบบโคมไฟส่องสว่างฉุกเฉินและป้ายทางหนีไฟ ลิฟต์พนักงานดับเพลิง
ทั้งนี้สภาวิศวกรมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นการป้องกัน ได้แก่ 1.อาคารสูงเกิน 4 ชั้น ต้องมีบันไดปิดล้อมอย่างน้อย 2 บันได 2.ในกฎหมายควบคุมอาคาร ต้องกำหนดมาตรฐานการควบคุมและจำกัดชนิดวัสดุที่ลุกลามรุนแรง เช่น โฟม พลาสติก ยาง และไม้ให้ใช้กับอาคารทั่วไป จากเดิมใช้บังคับกับอาคารบางประเภท เช่น โรงมหรสพ และ 3.อาคารสูงหรืออาคารพักอาศัยรวม ต้องมีผู้ตรวจสอบอาคาร
นายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัย กล่าวว่า หากมีผู้ตรวจสอบเข้ามาตรวจสอบอาคาร จะทำให้ผู้ใช้อาคารทราบถึงแนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติภัย ซึ่งผู้ตรวจสอบอาคารจะให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงอาคารเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ หากเกิดความรุนแรงอาจจะจำกัดความเสียหายหรือไม่รุนแรง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ฝึกซ้อมการหนีไฟไหม้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอาคาร 9 ประเภทที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการตรวจสอบอาคารเป็นประจำ โดยตรวจสอบภายใน 1 ปีหลังจากอาคารมีการเปิดใช้งาน หากไม่มาแจ้งตามกำหนดไว้จะปรับครั้งแรก 60,000 บาท จากนั้นจะปรับวันละ 10,000 บาท
นอกจากนี้มีอาคารไม่ได้บังคับให้มีการตรวจสอบ แต่เจ้าของต้องระมัดระวังเรื่องอัคคีภัยด้วยตนเอง คือ 1.บ้านพักอาศัย 2.สำนักงาน 3.สถานศึกษา โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา 4.สถานพยาบาล 5.โรงแรม น้อยกว่า 80 ห้อง 6.โรงงาน ขนาดต่ำกว่า 5,000 ตร.ม. 7.ร้านอาหาร ภัตตาคาร และ 8.ตลาด ควรแก้กฎหมายให้มีการตรวจสอบในอาคารด้วย เพราะมองว่ามีความเสี่ยง