"ทางเลียบเจ้าพระยา" สะดุด กทม.เลื่อนลงเข็มปี 60

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 13 เมษายน 2559

หลัง "ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" โปรเจ็กต์ในฝันของ "รัฐบาลบิ๊กตู่" เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ถึงขณะนี้ยังไม่มีความก้าวหน้า จนถึงจะนำพาโครงการเริ่มต้นนับหนึ่งเพื่อลงเข็มได้ หลังตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการจากหลายภาคส่วน

น้ำหนักข้อวิพากษ์เน้นถึงรูปแบบก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตขนาดใหญ่กว้างฝั่งละ 19.5 เมตร รวมถึงมูลค่าก่อสร้างสูงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แม้ "กทม.-กรุงเทพมหานคร" จะปรับขนาดถนนให้เล็กลงแล้ว เหลือฝั่งละ 11-12 เมตร แต่ไม่สามารถลดแรงต้านจากมวลชนได้ เพราะต่างมีความมั่นใจว่า โปรเจ็กต์ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ อาจจะทำลายทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่งดงาม มากกว่าจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศไทย ตามที่รัฐบาลชุดนี้การันตีไว้

ล่าสุดโครงการถูกปรับแผนเลื่อนการก่อสร้างออกไปอีกเป็นครั้งที่ 3 จนกว่าโมเดลจะลงตัว

ขณะที่สถานะโครงการ "พีระพงษ์ สายเชื้อ" ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้เซ็นสัญญาจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น วงเงิน 120 ล้านบาท เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการใหม่ เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ใช้เวลา 7 เดือน นับจากเดือน มี.ค.-ก.ย.นี้

โดยบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1.ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวม 57 กม. (สองฝั่งแม่น้ำ) เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขต กทม.ในพื้นที่เขตบางนา แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออก 36 กม. และฝั่งตะวันตก 21 กม.

2.งานสำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (อีไอเอ) สำหรับโครงการนำร่องระยะทาง 14 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ 3.งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนในแนวเส้นทาง 31 ชุมชน จำนวน 268 ครัวเรือน เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ

"ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่าเงินงบประมาณที่ใช้จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท และก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตกว้าง 19.5 เมตร เป็นการเข้าใจผิด เพราะผลการศึกษายังไม่สิ้นสุด จึงยังไม่สามารถระบุรูปแบบและเสนอของบประมาณได้ ต้องรอสรุปปลายปีนี้ เมื่อการสำรวจและออกแบบจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเสนอหาผู้รับจ้างในการก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ต้นปี"60 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน จะแล้วเสร็จปลายปี"61 หากโครงการนี้สำเร็จจะกลายเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของประเทศ" ปลัด กทม.กล่าวย้ำ

"รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน" ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า ตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมาได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่นำร่อง 14 กม. โดยลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน 31 ชุมชน ซึ่งแบบเบื้องต้นเป็นทางเดินและปั่นจักรยานจะเสร็จปลายเดือน เม.ย.นี้

สำหรับระยะทาง 43 กม.ที่เหลือ จะมีชุมชนอยู่ในพื้นที่ 13 เขต จะรับฟังความคิดเห็นแยกจากการลงชุมชน เช่น สถานที่ราชการ ศาสนสถาน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยทำควบคู่ไปกับกระบวนการทำรายงานอีไอเอ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย จะเสร็จปลายเดือน ก.ค.

ส่วนรูปแบบรายละเอียด และเอกสารประมาณราคาค่าก่อสร้างจะเสร็จปลายเดือน ส.ค. และแบบเชิงหลักการ ทั้ง 57 กม. รายงานฉบับสมบูรณ์ เสร็จเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นนำเสนอต่อ กทม. และคณะกรรมการโครงการอย่างเป็นทางการต่อไป