ศึกชิงไฮสปีดเทรนมาเลย์ระอุ "ญี่ปุ่น-เกาหลี" ร่วมขบวนท้าชนจีน

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 9 มิถุนายน 2559

จากเดิมที่เก็งกันว่ารัฐวิสาหกิจจากจีนนอนมา ที่จะคว้าสัมปทานก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองหลวงของมาเลเซียกับสิงคโปร์ แต่ตอนนี้กลับมีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อทยอยเสนอตัวออกมาอีก 2 ราย ไม่ใช่ใครที่ไหน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อนบ้านของจีนนั่นเอง

สำนักข่าวเบอร์นามารายงานว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศล่าสุดที่แสดงความสนใจเข้าร่วมชิงสัมปทานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าว โดยบริษัทก่อสร้างชั้นนำหลายแห่งของแดนกิมจิ อาทิ ฮุนได โรเทม, โคเรีย แลนด์ แอนด์ เฮาซิง คอร์ป, โคเรีย เรลโรด คอร์ป และโคเรีย เรล เน็ตเวิร์ก ออธอริตี (KRNA) ได้ร่วมตัวกันก่อตั้งบริษัทร่วมทุน หวังสร้างจุดแข็งในการชิงโครงการนี้กับประเทศอื่นๆ

นายกัง โฮ-อิน รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมทางบกของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า เตรียมจะนำเสนอแผนการก่อสร้าง ตัวเลขต้นทุนและแผนการเงินต่อรัฐบาลมาเลเซีย ภายในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมย้ำว่าไฮสปีดเทรนของเกาหลีใต้มีข้อได้เปรียบเหนือจีนในด้านต้นทุนและการวางแผนโครงการ และยังยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับมาเลเซียด้วย

เกาหลีใต้ไม่ได้จู่ ๆ โผล่มาเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ให้กับรัฐบาลมาเลเซีย แต่เดินเกมเป็นขั้นเป็นตอนมาตั้งแต่ปีกลาย ด้วยการจัดนิทรรศการและเปิดโชว์รูมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีให้ชาวมาเลเซียรับรู้มากขึ้น

ปัจจุบันเกาหลีใต้รั้งอันดับ 4 ในด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง รองจากญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ไฮสปีดเทรนรุ่นแรกของเกาหลีใต้มาจากการประยุกต์ระบบของฝรั่งเศส และสามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงได้เองเป็นครั้งแรกปี 2553

ส่วนญี่ปุ่น แม้จะไม่ได้ออกตัวแรงอย่างเกาหลีใต้และจีน แต่ก็จับจ้องโครงการนี้ตาเป็นมันเช่นกัน และหวังจะส่งออกเทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุน "ชินคันเซน" มาปักธงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเดือนที่แล้วระหว่างการเยือนญี่ปุ่นของดาโต๊ะสรี อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทางการญี่ปุ่นได้เชิญให้นายฮามิดีทดลองนั่งรถไฟชินคันเซนจากโตเกียวไปยังเซนได ระยะทาง 365 กม. ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 90 นาที พร้อมกับนำชมห้องคนขับรถไฟ นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่จากบริษัทอีสต์ เจแปน เรลเวย์ ที่ดำเนินการรถไฟความเร็วสูง 2,400 กม.ทั่วญี่ปุ่น มาให้ข้อมูลแก่รองนายกฯมาเลเซียด้วย

มีรายงานข่าวว่า นายฮามิดีประทับใจกับระบบและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของชินคันเซนอย่างมาก

นายฮามิดีกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมศึกชิงสัมปทานไฮสปีดเทรนในมาเลเซียว่า"ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านวัตกรรมขั้นสูงแน่นอนว่าพวกเขาจะมาพร้อมกับแผนก่อสร้างและแพ็กเกจการเงิน"นอกจากนี้ยังระบุว่า เกณฑ์การคัดเลือกไม่ได้ให้ความสำคัญกับราคาและสเป็กเท่านั้น แต่รวมถึงประโยชน์ที่รัฐบาลและประชาชนมาเลเซียจะได้รับ

ทั้งนี้ โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมมาเลเซียกับสิงคโปร์ริเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่มีอันต้องพับไว้ เนื่องจากต้นทุนก่อสร้างที่สูงและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 โครงการนี้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งในปี 2553 จนกระทั่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2556

ด้านนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เผยว่า เตรียมจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยโครงการดังกล่าวที่มีระยะทาง 330 กม. จากกรุงกัวลาเปอร์ ถึงจูรงอีสต์ ในสิงคโปร์ จะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางเหลือ 90 นาที จากปัจจุบัน 8 ชั่วโมง ด้วยรถไฟธรรมดา และมีมูลค่าโครงการราว 70,000 ล้านริงกิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565