คลังดันต่อนโยบายอสังหาฯ บ้านประชารัฐ-สินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 28 มกราคม 2559

รมช.คลังมองภาคอสังหาฯ คิดเป็น 10.7% ของจีดีพี ผลักดันต่อบ้านประชารัฐ ระดมอสังหาฯ NPA 1.2 หมื่นยูนิต ฟากบ้านประชารัฐร่วมผู้ประกอบการเอกชน คาดได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ มองสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย เร่งศึกษาสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ยืนยันประเด็นเช่าที่ดิน 99 ปียกเว้นเกษตรกรรมแน่

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา "อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2016" ว่า 3 ไตรมาสแรกของปี 58 ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจก่อสร้างมีมูลค่ารวมกว่า 3.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคอสังหาฯมีมูลค่า 8.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และภาคก่อสร้างอีก 2.4% ของจีดีพี รวมเป็น 10.7% ของจีดีพี และยังมีผลส่งต่อให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้นรัฐบาลเห็นความสำคัญของภาคอสังหาฯ ที่ผ่านมาจึงมีนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯผ่านมาตรการสินเชื่อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แก่ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งขณะนี้มียอดขออนุมัติสินเชื่อกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว และมีมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์ให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 20% ของราคาบ้าน

และระดับผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท/เดือน รัฐบาลมีนโยบายบ้านประชารัฐ ซึ่งถือว่าคืบหน้าแล้วพอสมควร โดยมีทรัพย์สิน NPA จากทั้ง บจ.บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM), บจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และกรมบังคับดคี กว่า 1.2 หมื่นยูนิต มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท และในส่วนบ้านประชารัฐที่ร่วมกับเอกชนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและไม่ได้จดทะเบียน มีทั้งโครงการบนที่ดินเช่าจากกรมธนารักษ์และที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ของเอกชนเอง จะเข้ามาสนับสนุนโครงการบ้านประชารัฐเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่นานจากนี้

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ คือประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งที่อยู่อาศัยถือเป็นสินค้าหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ดังนั้นกระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องสินเชื่อ Reverse Mortgage ซึ่งเป็นสินเชื่อบ้านแก่ผู้สูงอายุในลักษณะกลับกันจากปกติ คือให้ผู้สูงวัยนำอสังหาฯ จำนองกับสถาบันการเงินเพื่อได้รับเงินจากธนาคารสำหรับยังชีพในช่วงบั้นปลาย

ด้านประเด็นกฎหมายสิทธิเช่าที่ดินของรัฐ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายแพ่งกำหนดให้เช่าได้ครั้งละไม่เกิน 30 ปี ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการขยายเวลาเช่าหรือไม่ และจะกำหนดการขยายเวลาเช่าอย่างไร

"มีการกล่าวถึงการขยับเวลาเช่าที่ดินรัฐให้ยาวขึ้น ปัจจุบันถ้าตามกฎหมายแพ่งทั่วไปให้เช่าได้ 30 ปี ถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาจขยายได้ถึง 50 ปี ตอนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะขยายเวลาเช่าให้ทั้งหมด หรือใช้วิธีกำหนดเป็นเขต หรือกำหนดตามอุตสาหกรรม เรายังศึกษาตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียอยู่ สิ่งที่พูดกันในโซเชียลมีเดียขณะนี้ยังไม่ได้ตกผลึก โดยเฉพาะการให้ต่างชาติเช่าที่ดินทำการเกษตรนั้นรัฐบาลไม่ยอมแน่นอน" นายวิสุทธิ์กล่าว นอกจากนี้ฝากถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ให้เน้นการจัดทำฐานข้อมูลด้านดีมานด์ที่แน่ชัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกอีก และแนะนำควรจัดทำฐานข้อมูลสำหรับสินค้าใหม่ๆ ของธุรกิจด้วย เช่น ระบบไทม์แชร์ริ่ง ออฟฟิศสเปซขนาดเล็ก และโรงแรมแคปซูล เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นสินค้าที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ