โหวต 6 ด. รัฐสอบไม่ผ่าน กม.ปราบคอร์รัปชั่น ขอใบอนุญาตอสังหา 16 จุดจ่าย 2 พัน - 5 หมื่น

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 มกราคม 2559

สำรวจ 6 เดือนบังคับใช้กฎหมายปราบคอร์รัปชั่น ผู้ประกอบการอสังหาฯรุมฟันธงสอบไม่ผ่าน ชี้การขออนุญาตพัฒนาโครงการ 16 ขั้นตอน ที่ต้องติดต่อส่วนราชการยังมีความล่าช้า เจอเรียกเงินใต้โต๊ะจุดละ 2 พัน-5 หมื่น มีครบทั้งส่วนกลาง-ท้องถิ่น-รัฐวิสาหกิจ เสนอแนะตั้งทีมมอนิเตอร์เจ้าหน้าที่รัฐ เจอคนผิดให้ลงโทษเด็ดขาดตั้งแต่ลูกน้องยันหัวหน้าหน่วย ด้านสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรจี้รัฐบาลจัดตั้งวันสต็อปเซอร์วิสแก้ปัญหาระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาล คสช. ผลักดัน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้คำนิยามว่า เป็นกฎหมายปราบคอร์รัปชั่น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 เป็นต้นมา ปัจจุบันเวลาผ่านไป 6 เดือน จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินพบว่า อาจเพราะเป็นกฎหมายใหม่ ทำให้ส่วนราชการบางหน่วยอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างการทำงานมารองรับจึงยังไม่ลงตัว ทำให้ปัญหาการพิจารณาใบอนุญาตทำได้ล่าช้า รวมทั้งยังมีปัญหาการเรียกรับเงินนอกระบบเหมือนเดิม

3

จี้รัฐตั้งวันสต็อปเซอร์วิส

นายอธิปพีชานนท์นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กฎหมายอำนวยความสะดวกฯต้องยอมรับว่าความคาดหวังไม่ถึงขนาดที่จะไปปราบคอร์รัปชั่นได้ 100% แต่ถือว่าดีขึ้นเพราะมีความชัดเจนของการทำงานเวลาภาคเอกชนจะไปติดต่อส่วนราชการ แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถให้คะแนนได้ว่าดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยน่าจะต้องรอ 1 ปี เพื่อประเมินผลงานว่าสามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาออกใบอนุญาตได้หรือไม่

สำหรับบทบาทสมาคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จณจุดเดียวหรือวันสต็อปเซอร์วิส รูปแบบเหมือนกับวันสต็อปเซอร์วิสของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อช่วยลดภาระด้านเอกสารและการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ จุดเน้นคือใบอนุญาตก่อสร้างและการขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากทำได้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว

"ปัญหาการไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายเพียงฉบับเดียวจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นด้วยโดยเฉพาะกฎหมายที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจสูงหรือมีการทำงานผ่านคณะกรรมการ เป็นต้น แนวคิดวันสต็อปเซอร์วิสจะเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาลงได้ ทำให้การติดต่อราชการเหลือเพียง 1 จุด หรือเหลือให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเรียกร้องและต้องการ" นายอธิปกล่าว

ขอใบอนุญาต 16 จุด

แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" เพิ่มเติมว่า ปกติการติดต่อขอใบอนุญาตสำหรับพัฒนาโครงการทั้งแนวราบและแนวสูง เบ็ดเสร็จมีขั้นตอน 10-16 จุด ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งโครงการ เช่น ตั้งอยู่ในเมือง-นอกเมือง อยู่ริมแม่น้ำ-ริมทะเล อาจจะต้องขอเชื่อมทาง ขอเชื่อมการระบายน้ำ มีเรื่องบำบัดน้ำเสีย ใบขอเก็บขยะ ขอทำเขื่อน ขอสร้างสะพาน ฯลฯ ซึ่งจะต้องติดต่อเพิ่มเติมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองท้องถิ่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม หน่วยงานความมั่นคง ฯลฯ

ในขณะที่ต้นทางหลักจะต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร โดยติดต่อขอใบอนุญาตกับองค์กรปกครองท้องถิ่น อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นต้น จากนั้นจะต้องติดต่อกับกระทรวงมหาดไทยในเรื่องขออนุญาตจัดสรร การจดทะเบียนอาคารชุด นอกจากนี้จะต้องมีการติดต่อกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในเรื่องการขอติดตั้งระบบไฟฟ้า ประปาอีกด้วย

ค่าใช้จ่ายสารพัดรูปแบบ

แหล่งข่าวอีกรายซึ่งลงทุนในต่างจังหวัดกล่าวกับ"ประชาชาติธุรกิจ"ว่าจากการสอบถามผู้ประกอบการในวงการพบว่า ถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายพัฒนา 1 โครงการ ต้องหยอดน้ำมันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพื่อเร่งรัดการออกใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น เพราะถ้าไม่ยอมจ่ายจะเสียโอกาสในการทำธุรกิจซึ่งไม่คุ้มกัน

ตัวอย่าง ใบอนุญาตเพียงใบเดียว แต่ถ้าต้องขอผ่านบอร์ด (คณะกรรมการ) ค่าใช้จ่ายจะตก 6 หลัก หรือ 1 แสนบาทขึ้นไป, โครงการจัดสรรไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ต้องมีการแบ่งแปลงห้อง เริ่มต้นยูนิตละ 2 พัน-1 หมื่นบาท, การใช้แรงงานต่างด้าวในไซต์ก่อสร้าง ถ้าทำถูกกฎหมายทุกอย่างยังต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 5 พัน-1 หมื่นบาท แต่ถ้าทำผิดกฎหมายจะเพิ่มเป็นเดือนละ 3 หมื่นบาท, มีหน่วยงานความมั่นคง สาธารณสุข เทศกิจ เข้ามาตรวจสอบที่พักคนงาน การอยู่อาศัย การทิ้งน้ำเสียในแคมป์คนงาน ถัวเฉลี่ยจ่ายเดือนละ 5 พัน-1 หมื่นบาท, การขอเชื่อมระบบสาธารณูปโภคจากภายนอกเข้าในโครงการ ตกครั้งละ 3-5 หมื่นบาท เป็นต้น

เอกชนเสนอแนะ 5 ข้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจข้อเสนอแนะของภาคเอกชน สรุปดังนี้
1.ขอให้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของผู้ประกอบการ รูปแบบเหมือนศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทย ที่เปิดรับข้อร้องเรียนของประชาชนทั่วไป
2.ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างตัวแทนภาครัฐกับตัวแทน 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจัดทำรายงาน ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลจากการบังคับใช้กฎหมายอำนวยความสะดวกฯ
3.รัฐควรมีนโยบายเชิงรุกด้วยการ "ล่อซื้อ" หรือแฝงตัวเป็นผู้ประกอบการแล้วไปติดต่อขอใบอนุญาตต่าง ๆ หากพบการกระทำผิดให้จับกุมทันที โดยบทลงโทษจะต้องขยายผลไปถึงหัวหน้าหน่วยโดยอัตโนมัติ
4.รัฐควรตั้งคณะทำงานมอนิเตอร์ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อตรวจสอบการทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีคณะทำงานมอนิเตอร์ทำให้การทำงานยังอยู่ในวังวนปัญหาเดิมๆ
5.ประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีผู้ประกอบการยังไม่ทราบอีกจำนวนมาก