ผ่อนเกณฑ์กู้ซื้อบ้าน ธอส.เล็งขยายเพดานให้สินเชื่อ/อสังหาฯเสียงแตก

home

ผู้กู้-บ.อสังหาฯ ตั้งตาลุ้นมาตรการรัฐบาลหนุนซื้อที่อยู่อาศัย ธอส.เตรียมเคาะเงื่อนไขเอื้อ ทั้งเพิ่มเพดานกู้-พิจารณเกณฑ์รายได้เพื่อให้กู้ได้มากขึ้น ตั้งวงเงินเบื้องต้นหมื่นล้าน ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ “เสียงแตก” หนุนมาตรการภาษี อีกฟากจี้แบงก์ผ่อนปรนความเข้มงวดในการปล่อยกู้ ชี้ช่วยผู้ซื้อมากกว่าผู้ประกอบการ ส่วนแบงก์พาณิชย์อิดเอื้อนผ่อนเกณฑ์อ้างปัญหาหนี้เสีย ขุนคลังแย้มยังไม่ตัดมาตรการภาษี

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลซึ่งออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ระดับฐานราก ตามมาด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ล่าสุดทางการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการช่วยเหลือให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยทางการมอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ศึกษารายละเอียดและนำร่องช่วยเหลือ ซึ่งจะนำเสนอมาตรการฯให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 5ตุลาคมนี้

แหล่งข่าวระดับสูงรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยกำหนดงบประมาณเบื้องต้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาทิ ผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่จำกัดวงเงินกู้ต่อราย ขณะเดียวกันขยายความสามารถในการกู้ให้รายย่อยโดยให้กู้ได้เกิน 40 เท่าของเงินเดือน (จากเดิมที่ให้กู้ไม่เกิน 40 เท่าของเงินเดือนของผู้กู้) หรือปรับเงื่อนไขใหม่เป็นให้กู้ได้ประมาณ 1 ใน 2 ของรายได้สุทธิ

เสียงแตกหนุนมาตรการ

อย่างไรก็ตาม มุมมองต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ยังมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ทาง ทั้งสนับสนุนมาตรการด้านภาษี อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอน /จดจำนอง แต่ในอีกมุมหนึ่งสนับสนุนให้ใช้มาตรการด้านการเงิน อาทิ ผ่อนปรนความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดและเป็นการช่วยเหลือในฝั่งของผู้กู้มากกว่ามาตรการด้านภาษี

สอดรับกับความเห็นของ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ใช้มาตรการด้านการเงิน เห็นได้จากก่อนหน้านี้ รมว.คลัง แสดงความเห็นต่อมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ว่า มาตรการที่จะนำมาใช้ อาจไม่ใช่การลดค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง ตามที่ภาคเอกชนเสนอ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมารมว.คลังระบุว่า มาตรการภาษีเป็นหนึ่งในมาตรการที่มีการเสนอเข้ามา ยังตัดไปไม่ได้ ตอนนี้กำลังดูอยู่ ยังไม่จบแต่สิ่งที่จะออกมาก่อนคือเรื่องของสินเชื่อ แต่ ”มาตรการทางภาษีถึงจะมีคนเสนอมาแต่ผู้ประกอบการก็ไม่ได้เห็นด้วย”

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/10/06/12845
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3093 วันที่ 4 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558