ทางหลวงทุ่ม 3 หมื่นล้าน ขยาย”โทลล์เวย์-บางปะอิน” เสร็จปี’62 รับมอเตอร์เวย์ใหม่

Cr.ประชาชาติธุรกิจ 25 เมษายน 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2559 กรมทางหลวง(ทล.) จัดรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบรายละเอียด ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมของโครงการในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยโครงการมีรูปแบบเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดสิ้นสุดของทางยกระดับอุตราภิมุขในปัจจุบัน (ประมาณ กม. 33 + 942 ของถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการ ประมาณ กม.51+924  ของถนนพหลโยธิน บริเวณแยกต่างระดับบางปะอิน ซึ่งเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเซีย และยังรองรับแผนการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษบางปะอิน – นครราชสีมา และการเชื่อมต่อ ถนนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกในอนาคต การก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง ความกว้างของช่องจราจร 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตรและไหล่ทางด้านขวากว้าง 1.00 เมตร ความกว้างรวม 28.55 เมตร

มีจุดขึ้น – ลง 7 จุด ได้แก่ ด่านโรงกษาปณ์ , ด่านคลองหลวง , ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ด่านนวนคร , ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ , ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และด่านบางปะอิน ประมินจะมีมูลค่าการลงทุนของโครงการอยู่ที่ประมาณ 30,538 ล้านบาท

ซึ่งโครงการมีความคุ้มทุน  มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่18.2%  มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 15,531 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio)เท่ากับ 1.98

ทั้งนี้ ภายหลังการศึกษาครั้งนี้เสร็จสิ้น รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA)จะเข้าสู่กระบวนการอนุมัติ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (การเวนคืนและชดเชย) ก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562 จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ถึง 88,300 คัน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 146,100 คัน/วัน ในปี พ.ศ.2582

ซึ่งเส้นทางนี้จะช่วยเพิ่มโครงข่ายถนนสายหลักภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตลอดจนการเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ลดระยะเวลาการเดินทางและลดต้นทุนการขนส่ง ส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและการค้าระหว่างภูมิภาค ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในระดับอาเซียนในอนาคต