ร.ฟ.ท.มึน "ที่ดินมักกะสัน" หาเงิน 1.6 หมื่นล้านย้ายโรงงาน

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 28 เมษายน 2559

หลังได้ข้อยุตินำที่ดินมักกะสัน 497 ไร่ แลกหนี้ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" กับกระทรวงการคลัง ด้วยวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงขณะนี้ที่ดินผืนนี้ยังไม่ได้ส่งมอบถึงมือกรมธนารักษ์

ล่าสุดที่ประชุม "คนร.-คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ" หรือซูเปอร์บอร์ด มี "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สั่ง ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่โดยเร็ว เพื่อกรมธนารักษ์จะได้ฤกษ์เปิดประมูลหาเอกชนพัฒนาโครงการ

ว่ากันว่าแผนส่งมอบที่ดินไม่รื่น เป็นเพราะ ร.ฟ.ท.ต้องหาเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท มาดำเนินการย้ายเอง จากเดิม ร.ฟ.ท.ตั้งใจจะใช้เงินก้อนแรกจากกรมธนารักษ์แต่สุดท้ายก็ฝันสลาย เมื่อกรมธนารักษ์เองก็หาเงินให้ไม่ได้ ภาระจึงตกอยู่กับ ร.ฟ.ท. นำมาสู่ประเด็นที่น่าจับตาว่า การส่งมอบที่ดินมักกะสันจะฉลุยหรือล่าช้ายิ่งขึ้น เมื่ออะไรดูไม่ง่ายอย่างที่คิด

"ออมสิน ชีวะพฤกษ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คนร.เร่งรัดการพัฒนาที่ดินมักกะสันที่ ร.ฟ.ท.ใช้แลกหนี้กับกระทรวงการคลัง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะใช้เวลา 2 ปีเคลียร์พื้นที่ แบ่งเป็น 7 พื้นที่ (ดูแผนผัง) โดยพื้นที่ 1, 2, 3 บริเวณย่านโรงงานมักกะสันและสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ 105 ไร่ ส่งมอบวันที่เซ็น MOU วันที่ 1 ก.ค.นี้ พื้นที่ 4, 5 เป็นโรงงานมักกะสัน และอาคารคลังพัสดุ 5 หลัง 30 ไร่ ส่งมอบวันที่ 30 มิ.ย. 2560 จากนั้นพื้นที่ 6 และ 7 อาคารโรงงานโรงพยาบาลบุรฉัตร และนิคมรถไฟมักกะสัน รวม 313 ไร่ ส่งมอบวันที่ 31 มี.ค. 2561

"คนร.ให้ ร.ฟ.ท.หาเงินย้ายคนและโรงงานซ่อมบำรุงออกจากพื้นที่ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ต้องใช้ เงิน 16,000 ล้านบาท ต้องหาเงินเอง จะให้กระทรวงคมนาคมหาแหล่งเงินกู้ก็ได้ หรือถ้าหาเงินเอง กระทรวงการคลังจะไม่เกี่ยวข้อง ที่มียืดเยื้อกันมาเพราะเงินจำนวนนี้ ร.ฟ.ท.อยากให้คลังสนับสนุน"

โดย ร.ฟ.ท.เตรียมแผนรองรับการรื้อย้ายให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ระหว่างโรงงานซ่อมบำรุงแห่งใหม่ยังไม่เสร็จ จะใช้ศูนย์ซ่อมที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หรือศูนย์ซ่อมภูมิภาค จะจ้างบริษัทข้างนอก (Out Source) ทำงานซ่อมบำรุง จัดหาประกันสุขภาพให้พนักงานช่วงรอโรงพยาบาลก่อสร้าง และให้ค่าเช่าที่พักแก่พนักงานในช่วงการก่อสร้างที่พักใหม่

อีกทั้ง คนร.ยังเห็นชอบในหลักการให้ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกมาเดินรถสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ช่วง 5 ปีแรก โดยให้ทำแผนการเดินรถที่ชัดเจนเสนออีกครั้ง เพื่อแก้มติ คนร.เดิมให้เอกชนข้าร่วมลงทุน (PPP) ถ้าผ่าน 5 ปีแล้ว ร.ฟ.ท.บริหารโครงการได้ไม่ดี ต้องให้เอกชนมาดำเนินการแทน

ส่วนโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เดิม และส่วนต่อขยายจะให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งหมด