"ผู้เช่าผี" ระบาดนิวยอร์ก เซ่นอสังหาฯแพงกระฉูด

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 มีนาคม 2559

New York City  Cr. Tripadviser

New York City  Cr. Tripadviser

มหานคร นิวยอร์ก เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่ามีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในเรื่องที่พักอาศัย ที่ผู้เช่าต้องยอมจ่ายราคามหาโหด แต่สำหรับหลายคนที่ไม่อาจสู้กับเงื่อนไขทางด้านราคา ก็จำเป็นต้องเสี่ยงทำผิดกฎหมาย และแอบพักอาศัยอยู่กับญาติ หรือคนรู้จัก โดยไม่ขึ้นทะเบียน และกลายเป็น "ผู้เช่าผี" ในที่สุด

รายงานจาก Quartz ระบุว่า ในนครนิวยอร์กมีประชาชนพักอาศัยอยู่ในบ้านพักของรัฐอย่างเป็นทางการ ประมาณ 400,000 คน อย่างไรก็ตามจากการประเมินของเจ้าหน้าที่ เชื่อว่ามี "ผู้เช่าผี" อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอีกถึงกว่า 100,000-200,000 คน โดยในอพาร์ตเมนต์หลายแห่งที่แจ้งชื่อผู้อยู่พักอาศัยเพียง 2 คน อาจมีคนอยู่จริงมากถึง 5-7 คน

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นิวยอร์กเกอร์ จำนวนมากต้องมาเบียดเสียดกันในบ้านพักสวัสดิการ อาจเป็นเพราะว่างานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ย่านแมนฮัตตัน โดยรายงานเมื่อปี 2556 จากสถาบันบรู๊กกิงส์ (Brookings Institution) ระบุว่า ตำแหน่งงานกว่า 1 ใน 3 ในนครนิวยอร์ก มีสถานประกอบการอยู่ในรัศมีไม่เกิน 3 ตารางไมล์จากย่านใจกลางเมือง หรือมิดทาวน์ ซึ่งราคาที่พักในย่านนี้สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าแรงที่แรงงานส่วนใหญ่ (ราว 2 ใน 3) ได้รับที่เพียง 35,000 ดอลลาร์ต่อปี

ขณะที่บ้านสวัสดิการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองอัน เฟื่องฟู เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาไม่มีการปรับปรุงผังที่ตั้งบ้านสวัสดิการ จึงทำให้ที่พักอาศัยของรัฐเหล่านี้ ซึ่งค่าเช่าอยู่ในระดับที่เอื้อมถึงได้ (แม้จะไม่ถูกนัก) เป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาไม่สมดุลกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ ประชาชนในนิวยอร์ก โดยรายงานเมื่อปี 2557 จากศูนย์เฟอร์แมนพบว่า ค่าเช่าบ้านในนิวยอร์ก ระหว่างปี 2548-2556 เพิ่มขึ้นถึง 12% ขณะที่ในช่วงเดียวกัน รายได้ของประชาชนในนิวยอร์ก ขยายตัวเพียง 2.3% ซึ่งรายงานจากศูนย์บริการชุมชน (Community Service Society) ระบุว่า บ้านพักอาศัยที่สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนส่วนใหญ่ลดลง 39%

ใน พื้นที่ใจกลางเมืองนิวยอร์ก ราคาค่าเช่าบ้านโดยเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 2,900 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่งผลให้หลายคนจำเป็นต้องแบ่งรายได้กว่า 30% ต่อเดือนไปกับค่าเช่าบ้าน และประชาชนในกลุ่มนี้มีมากกว่า 11% และเป็นกลุ่มครอบครัว (3 คน) ที่มีรายได้ราวปีละ 47,451-61,850 ดอลลาร์

ราคาอสังหาริมทรัพย์ใน ย่านศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่พุ่งกระฉูด นอกจากจะฉายภาพดีมานด์ที่พุ่งสูงสวนทางกับซัพพลายที่ไม่เพียงพอ แต่ยังสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยรายงานอีกฉบับจากรอยเตอร์ส อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานบัญชีของนิวยอร์กระบุว่า พื้นที่ในเขตบรู๊กลิน และควีนส์ ของนิวยอร์ก ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มานานกว่า 30 ปี เหลืออยู่มากถึง 75% หรือคิดเป็นพื้นที่ราว 1,100 แปลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากรัฐไม่สามารถส่งผ่านพื้นที่ดังกล่าวให้นัก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าไปทำประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม ด้านสำนักงานการจัดการที่อยู่อาศัยของนิวยอร์กออกมาระบุว่า พื้นที่ราว 400 แปลง อยู่ระหว่างกระบวนการนำไปพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ถึง 670 แปลง ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่าเกินครึ่ง

โดยพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้นำไป พัฒนานี้ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น เป็นพื้นที่น้ำท่วม ไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปา หรือไม่มีถนนเข้าถึง โดยหากพื้นที่ว่างเปล่าทั้งหมดสามารถนำไปพัฒนาได้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้เพิ่มเติมถึง 57,000 ยูนิตเลยทีเดียว