คนฝั่งธนฯแนะกทม.จูงเอกชนลงขัน ขยายรถไฟสายสีทองเชื่อมต่อเส้นอื่น

thonburiplan

ชาวคลองสานหนุนกทม.ดึงKbank-BTS ลงทุนสร้างรถไฟสายสีทอง ต่อยอดเฟสแรกที่สิ้นสุดแค่แยกร.พ.ตากสินเลี่ยงข้อกล่าวหาเอื้อซีพี แนะลงทุนครั้งเดียวควรขยายเส้นทางเชื่อมถึงราษฎร์บูรณะ ส่วนฝั่งตะวันตกเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงินก่อนสิ้นสุดที่ศิริราช ด้านกทม.ยันไม่มีเวนคืน

แหล่งข่าวจากการเปิดรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ของโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าธนบุรี-เขตคลองสาน-ประชาธิปก จัดโดยสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เผยว่าหากกทม.จะดำเนินการก่อสร้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร เพื่อเอาใจเอกชนคือ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นเจ้าของโครงการ และเป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างเส้นทาง เพื่อรองรับโครงการไอคอนสยามนั้น

หากกทม.เห็นความสำคัญของโครงการ และไม่เอื้อเอกชนเพียงรายใด ควรพิจารณาขยายเส้นทางออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ทั้งควรจะเจรจากับบีทีเอสให้ลงทุนก่อสร้างจากช่วงสถานีบีทีเอสกรุงธนบุรี – แยกโรงพยาบาลตากสิน ส่วนช่วงจากแยกโรงพยาบาลตากสินไปแยกบ้านแขก ที่เชื่อมกับสายสีม่วงใต้(เตาปูน-พระประแดง) ควรเจรจากับไอคอนสยาม และช่วงจากสี่แยกบ้านแขกไปเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีอิสรภาพและสิ้นสุดที่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ควรใช้งบของกทม.ดำเนินการ หากไม่มีเอกชนสนใจลงทุนช่วงนี้ จากนั้นช่วงสถานีบีทีเอสกรุงธนบุรี-ถนนราษฎร์บูรณะควรเจรจากับธนาคารกสิกรไทย เพื่อขยายเส้นทางไปถึงหน้าธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่

“การขยายเส้นทางผลดีจะมีมากกว่าเอาใจแค่เอกชน ที่สำคัญหากขยายถึงโรงพยาบาลศิริราชประชาชนจะสะดวกมากขึ้น ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนอิสรภาพ ส่วนช่วงจากบีทีเอสกรุงธนบุรี หากกสิกรไทยสนับสนุนให้สร้างถึงสำนักงานใหญ่จะส่งผลดีอย่างมาก ทั้งอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงระบบขนส่งมวลชน สร้างความเจริญให้พื้นที่ด้วย ทุกรายได้ประโยชน์หมดไม่เฉพาะเอกชนเท่านั้น”

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสจส.กทม. กล่าวว่าโครงการนี้เฟสแรก คือช่วงถนนกรุงธนบุรี-แยกคลองสาน(บีทีเอสกรุงธนบุรี-แยกโรงพยาบาลตากสิน) ลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ส่วนเฟสที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา-ถนนประชาธิปกระยะประมาณ 1 กิโลเมตร

“เริ่มต้นจากบริเวณสถานีบีทีเอสกรุงธนบุรี สิ้นสุดที่หน้าวัดอนงคารามประมาณ 3 กิโลเมตร 4 สถานี งบประมาณส่วนหนึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือกลุ่มไอคอนสยาม นับเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบสายรองของกทม. ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งศึกษาความเป็นไปได้โดยจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2559 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2560 มีผู้โดยสารประมาณ 4.7 หมื่นคน/วัน ซึ่งนโยบายของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะไม่มีการเวนคืนทั้งสิ้น โดยจะประมูลก่อสร้างและ บริหารจัดการพร้อมกัน หรืออาจจะให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที)รับไปดำเนินการ”

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/10/23/14476
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3098 วันที่ 22 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558