Cr.ประชาชาติธุรกิจ 5 พฤษภาคม 2559
แบงก์คุมปล่อยกู้รายย่อย ผวาหนี้ครัวเรือนสูง ผู้กู้คุณภาพหดตัว กสิกรฯเผยยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน-พีโลนกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นแตะ 50% ด้านแบงก์กรุงไทย-ไทยพาณิชย์ยอมหั่นเป้าสินเชื่อ หลังปล่อยกู้วูบ
นายบุนชาน กุลวทัญญู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า จากภาระหนี้ของรายย่อยที่เพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ศักยภาพผู้กู้ด้อยลงมาก ทำให้การขอสินเชื่อต่างๆ ทำได้ยากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน โดยหากดูอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) ของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) พบว่าเพิ่มขึ้น โดยผู้มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ส่วนผู้มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาท/เดือน ยอดการปฏิเสธสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 25-30% เนื่องจากแบงก์คัดกรองสินเชื่อเข้มงวดขึ้น ขณะที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อส่วนบุคคลก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน ยอดรีเจ็กต์อยู่ที่ 50-55% จากปีก่อนไม่ถึง 50% ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท/เดือน มียอดรีเจ็กต์ 20-25%
ด้านการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวต่ำต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า สินเชื่อบ้านจะเติบโต 6% ใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มียอดสินเชื่อบ้านคงค้าง ณ สิ้นปีที่ 2.36 แสนล้านบาท
ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% จากยอดคงค้างที่ 1.84 หมื่นล้านบาท แม้พีโลนจะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 1.5% แต่ก็ยังถือว่ายังขยายตัวในระดับต่ำ ทำให้ธนาคารเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายในการให้สินเชื่อไปสู่ผู้มีรายได้เกิน 20,000 บาท/เดือน จากก่อนหน้าที่เริ่มต้นขอสินเชื่อที่ 15,000 บาท เพื่อลดปัญหาหนี้สินตึงตัว
นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า การขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยของแบงก์ในปีนี้น่าจะเติบโตต่ำกว่า 8% จากเป้าหมายเดิมซึ่งคาดการณ์เมื่อปลายปี 2558 ว่า สินเชื่อรายย่อยจะเติบโตได้ราว 8-10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 8% และมียอดคงค้าง ณ สิ้นปีอยู่กว่า 8 แสนล้านบาท
"สินเชื่อรายย่อยที่ชะลอตัวลง เห็นได้จากทุกหมวดทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าแบงก์จะออกผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลออกมาเพิ่มขึ้น และให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ แต่ปริมาณการขอสินเชื่อใหม่ที่เข้ามา ก็ยังมียอดการอนุมัติได้น้อยลง เนื่องจากผู้ขอกู้มีคุณภาพต่ำลงและแบงก์ก็ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ต้องเข้มงวดและคัดกรองมากขึ้น ในภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้" นายธัญญพงศ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายธัญญพงศ์กล่าวด้วยว่า แม้การขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยจะชะลอลง แต่แบงก์ยังสามารถรักษารายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ธุรกิจรายย่อยได้ดี โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตที่ 12% ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากแบงก์มีผลิตภัณฑ์การเงินที่หลากหลาย และตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อยได้ดี เช่น กองทุน ประกัน เป็นต้น
นายณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า สินเชื่อส่วนบุคคลของแบงก์ปีนี้น่าจะเติบโต 7% ชะลอลงจากปีก่อนที่เติบโต 10% โดยยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตลดลงส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ขณะที่ภาระหนี้ของประชาชนยังเพิ่มขึ้น แบงก์จึงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
"การอนุมัติสินเชื่อรายย่อยของเราในปีนี้ แบงก์ยังเน้นลูกค้าเก่า และเราระมัดระวังการให้สินเชื่อมา 2 ปีแล้ว ต้องเข้มไว้ก่อน เพราะของพวกนี้ยังไม่เห็นทิศทาง สถานการณ์ยังไม่ดี หนี้ครัวเรือนยังสูง และเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี" นายณรงค์กล่าว