Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 5 กุมภาพันธ์ 2559
คมนาคมดีเดย์ ส.ค.กดปุ่ม "ระบบตั๋วร่วม" นำร่อง "รถไฟฟ้า-ทางด่วน" คาดสิ้นปีระบบสมบูรณ์ บัตรใบเดียวใช้ร่วมทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถเมล์ เตรียมชง ครม.ไฟเขียวดึงเอกชน ด้านขนส่งร่วมทุนบริษัทกลางบริหาร สัมปทาน 15-20 ปี จับตาสองยักษ์ระบบราง BTS-BEM ปาดเค้กต่อยอดธุรกิจ
นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะนำโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการกลางของระบบตั๋วร่วมให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยจะใช้รูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP ในการเลือกเพื่อจัดตั้งบริษัท ตั๋วร่วม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาตั๋วร่วม (CTC) ร่วมกัน
ดึงเอกชนตั้งบริษัทกลางบริหาร
ในหลักการรัฐถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ 1.ภาครัฐ ถือหุ้นประมาณ 40% 2.ภาคเอกชนที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เช่น บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM สัดส่วนประมาณ 20% และ 3.ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบ จากต่างประเทศ สัดส่วนประมาณ 40% ใช้วิธีเปิดประกวดราคานานาชาติ ซึ่งสัดส่วนหุ้นดังกล่าวยังไม่สรุป อยู่ระหว่างประเมินความเหมาะสม
"บริษัทนี้จะดูเรื่องการจัดการค่าใช้บริการของแต่ละระบบ ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บเงิน และแบ่งสรรเงินให้กับระบบขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ จะมีรายได้จากการคิดค่าฟี โดยรัฐจะให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 15-20 ปี ส่วนกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ควบคุมค่าฟรีจะไม่ให้เกิน 1.5% ของค่าขนส่งและกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร จะมี 3 รูปแบบ คือ 1.คิดอัตราเดียว เช่น 20 บาท 30 บาท 40 บาท 2.เก็บตามระยะทาง โดยคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียว 3.เก็บตามระยะทาง ลดค่าแรกเข้าครั้งที่ 2 เช่น 10-30% อยู่ที่นโยบายรัฐบาล" นายเผด็จกล่าวและว่า สำหรับการจัดตั้งบริษัทใช้ทุนเริ่มต้น 600 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะใช้เป็นเงินปรับปรุงระบบเดิมวงเงิน 244 ล้านบาท เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วม จะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้และให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน ประกอบด้วย ค่าปรับปรุงระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน 80 ล้านบาท ระบบบีทีเอส 60 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 60 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน และค่าบริหารจัดการอีกกว่า 160 ล้านบาทต่อปี และค่าจัดตั้งสำนักงาน
6 เดือนนำร่องรถไฟฟ้า-ทางด่วน
"6 เดือนจากนี้จะทดสอบระบบที่ติดตั้งเสร็จ ปรับปรุงระบบเดิม คือ ระบบบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ และ Easy Pass ของทางด่วน ให้รองรับระบบตั๋วร่วมที่ออกแบบเป็นมาตรฐานกลาง ให้เริ่มใช้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเป็นการทยอยใช้ตามความพร้อมของระบบที่ปรับปรุงเสร็จ ส่วนระบบใหม่จะเปิดใช้ปีนี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกหรือรถเมล์เอ็นจีวีที่ซื้อใหม่ก็สามารถนำระบบไปติดตั้งได้เลย คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีนี้คือรถไฟฟ้าและทางด่วน"
"เป้าหมายภายในสิ้นปี 2559 ระบบตั๋วร่วมจะสมบูรณ์แบบ ตามแผนงานจะมีการใช้ระบบตั๋วร่วมครอบคลุมทั้ง รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มอเตอร์เวย์ ทางด่วน และรถเมล์ ขสมก. ในระยะแรกจะเน้นใช้ตั๋วร่วมกับระบบขนส่งเป็นหลักก่อน"
นายเผด็จกล่าวว่า สำหรับร้านสะดวกซื้อที่ไม่ใช่ธุรกิจขนส่งจะเป็นลำดับถัดไป เช่น บัตรสมาร์ทเพิร์สของบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ธุรกิจในเครือของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่มีฐานลูกค้าเป็นสมาชิกใช้ซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น หากสนใจก็สามารถเข้าได้ ในเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป จะเชิญผู้ประกอบการภาคธุรกิจค้าปลีกหรือที่เกี่ยวข้องมารับฟังความพร้อมของระบบที่สนข.ติดตั้งเสร็จ ซึ่งการดำเนินการจะทำคู่ขนานกันไปกับการคัดเลือกเอกชนมาบริหารจัดการ
BTS-BEM สนร่วมลงทุน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างติดตั้งระบบตั๋วร่วมที่ประมูลชนะวงเงิน 338 ล้านบาทให้ สนข. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นใช้เวลา 6 เดือนในการทดสอบ และใช้ระบบได้ในเดือนสิงหาคมนี้
ขณะเดียวกันบริษัทมีความสนใจจะเข้าร่วมลงทุนระบบการบริหารจัดการกลาง ที่ สนข.จะเปิดประมูลด้วย เนื่องจากบีทีเอสให้บริการบัตรแรบบิทอยู่แล้วภายใต้บริษัท บางกอกสมาร์ทซิสเต็มส์ จำกัด หรือบีเอสเอส ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรอยู่ประมาณ 5 ล้านใบที่จะสามารถนำมาใช้ร่วมกับบัตรตั๋วร่วมแมงมุมได้ ซึ่งบริษัทเตรียมเซตระบบให้รองรับด้วยกันได้
"เราออกบัตรแรบบิทมาเพื่อจะเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม ที่จะใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และมีเซ็น MOU กันไปก่อนหน้านี้ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบ ไม่ต้องถือบัตรหลายใบ และสามารถนำบัตรแรบบิทไปซื้อของตามร้านค้าที่เข้าร่วมได้ ถึงแม้ว่าขณะนี้ทางรถไฟฟ้าใต้ดินยังไม่ได้เข้าร่วม แต่เมื่อรัฐมีนโยบายเรื่องระบบตั๋วร่วมชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่บีทีเอสจะร่วมกับ BEM ลงทุนระบบตั๋วร่วม เพราะมีความร่วมมือที่จะทำร่วมกันอยู่แล้ว และขณะนี้เรากำลังคุยกับซีพีอาจจะมีการทำธุรกิจร่วมกันเพราะซีพีมีบัตรสมาร์ทเพิร์ส" นายสุรพงษ์กล่าว
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง กล่าวว่า มีความสนใจจะให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BEM เข้าร่วม PPP ระบบตั๋วร่วมของ สนข.ด้วย รอทางรัฐบาลกำหนดทีโออาร์ที่ชัดเจนจะให้เอกชนเข้าร่วม เพื่อบริหารระบบตั๋วให้เป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคมนี้จะเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง สามารถใช้ตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าใต้ดินเดิมได้ ส่วนทางด่วนสายใหม่ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกที่จะเปิดใช้เดือนกรกฎาคมนี้จะยังไม่มีระบบตั๋วร่วม มีแต่ระบบบัตร Easy Pass โดยจะเก็บค่าผ่านทาง 50 บาท
ยลโฉม "MANGMOOM" ขยุ้มการเดินทางด้วยบัตรใบเดียว
ได้รูปแบบ "บัตรตั๋วร่วม" ที่จะนำมาใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลัง "สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" ได้ผู้ชนะผู้ออกแบบบัตรพร้อมกับชื่อภายใต้แนวคิด "One for All Better" (ดี๊ดี...ทุกจังหวะการใช้ชีวิต)
โฉมหน้าบัตรเป็นผลงานของ "นางสาววรรธิชา อเนกสิทธิสิน" กราฟิกดีไซน์รุ่นใหม่ไฟแรงจากรั้วมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี มีชื่อว่า "MANGMOOM (แมงมุม)"
ผลงาน "MANGMOOM" เกิดจากการนำเอาลักษณะทางกายภาพของแมงมุมมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ ทั้งชื่อ และตราสัญลักษณ์ จึงได้ออกมาเป็นบัตร
เพราะแมงมุมเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยการสร้างเส้นใยเชื่อมต่อกันไป ซึ่งเส้นใยนอกจากจะช่วยในการดักจับอาหารแล้ว ยังช่วยเป็นเส้นสายในการเดินทางไปสู่จุดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับ "ระบบตั๋วร่วม" ที่สามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางไว้ด้วยบัตรเพียงใบเดียว
โดยจะถ่ายทอดออกมาผ่านสัญลักษณ์รูปตัว "M" จำลองลักษณะของขาแมงมุมที่ผูกรวมกันไว้ เสมือนการเชื่อมทุกการเดินทางทั้งในและนอกภาคขนส่งเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง
นับว่าเป็นบัตรที่สื่อได้ตรงจุดเข้ากับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีหลากสีหลากสายทางกระจาย4 มุมเมือง ตามที่ปรากฏในแผนแม่บทรถไฟฟ้าหรือ M Map จนได้รับฉายาเป็นโครงข่ายแมงมุม