'ธอส.' เสนอโครงการบ้านประชารัฐเข้า ครม. มี.ค.

Cr. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 4 กุมภาพันธ์ 2559

"ธอส."เสนอโครงการบ้านประชารัฐเข้า ครม. มี.ค.นี้ เตรียมวงเงิน 3 หมื่นล้าน ปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อย ดอกเบี้ยคงที่ 2% 3 ปีแรก หรือผ่อน 3 พันบาทต่อเดือน

รัฐบาลมีนโยบายทำโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ทั้งในรูปแบบการเช่าซื้อระยะยาว (ลีสโฮลด์)  โดยใช้พื้นที่ราชพัสดุ 6 ทำเล และการขายขาด (ฟรีโฮลด์) โดยเปิดให้เอกชนนำโครงการที่มีอยู่แล้วมาร่วมโครงการ  ราคาขายต่อยูนิตต้องไม่เกินที่รัฐบาลกำหนด โดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล  ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธอส. เปิดเผยว่า  ธอส.เตรียมวงเงินในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐไว้เบื้องต้น 3 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ประชาชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาในการปล่อยกู้ 3 ปี โดยทางกระทรวงการคลังเตรียมจะนำเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนมี.ค.นี้

ในส่วนนี้จะเป็นการนำสินทรัพย์ที่รอการขาย หรือเอ็นพีแอของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ เอสเอฟไอ ทั้งธอส. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ออมสิน กรุงไทย บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) กว่า 2.5 พันยูนิตทั่วประเทศมาร่วมโครงการ เพื่อเปิดขายให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย

เอกชนแห่นำโครงการร่วม 9.5 พันยูนิต

นอกจากนี้จะเปิดให้ผู้ประกอบการเอกชน ทั้งที่เป็นสมาชิกของ 3 สมาคมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และที่ไม่ได้เป็นสมาชิก นำโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว และมีลักษณะเข้าเงื่อนไขการเป็นบ้านประชารัฐ เช่นคอนโคมีเนียมราคาไม่เกิน 7 แสนบาท และบ้านแถวมีราคาไม่เกิน 9 แสนบาทต่อยูนิตมาร่วมโครงการ ขณะนี้มีเอกชนหลายรายสนใจเข้าร่วมแล้วหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล กว่า 9.5 พันยูนิต

“หลังจากที่โครงการผ่านครม.แล้ว  ธอส.จะเปิดลงทะเบียนประชาชนที่สนใจกู้ซื้อบ้านประชารัฐ และเปิดลงทะเบียนผู้ประกอบการที่สนใจนำโครงการเข้ามาร่วม เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ หลังจากที่กระทรวงคลังขยับราคาจาก 5 แสน เป็นไม่เกิน 7 แสนบาทให้  ทำให้มีโครงการที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น รวมทั้งของเอสเอฟไอ และภาคเอกชนกว่า 1หมื่นยูนิต โดยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การเอื้อภาคเอกชน แต่เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน”

กำหนด 3 เงื่อนไขกู้ซื้อบ้านประชารัฐ

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่า เงื่อนไขของโครงการบ้านประชารัฐ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.  คุณสมบัติประชาชนที่จะขอกู้ซื้อบ้านประชารัฐ  จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 1.5-2 หมื่นบาท  รายละเอียดเรื่องนี้จะมีการกำหนดชัดเจนอีกทีว่ารายได้ควรจะอยู่ในระดับไหน  นอกจากนี้จะต้องไม่เคยเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาก่อน

2. ตัวบ้าน หรือที่อยู่อาศัยที่จะเข้าร่วมโครงการ  แยกเป็น 2 ส่วน  โดยส่วนแรกเป็นบ้านที่มีอยู่แล้วในตลาด ทั้งโครงการของภาคเอกชน  และสินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  ส่วนที่ 2 เป็นบ้านสร้างใหม่  โดยใช้พื้นที่ของที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์จำนวน 6 แปลง
3.แพ็คเกจสินเชื่อ โดยในส่วนสินเชื่อที่จะปล่อยกู้ให้กับประชาชนนั้น เป็นดอกเบี้ยผ่อนปรนกว่าปกติ  และกำหนดเป็นอัตราคงที่ยาวกว่าปกติ  เพื่อทำให้ยอดการผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ในระดับต่ำ เช่นกรณีที่ซื้อคอนโคราคา 7 แสนบาท จากปกติยอดการผ่อนต่ำสุดอยู่ที่ 4.1 พันบาทต่อเดือน ก็จะกดให้เหลือเพียง 3 พันบาทต่อเดือน  แต่หากเป็นโครงการที่สร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ราคาต่อยูนิตจะปรับลดลงอีก เช่นคอนโดราคาไม่เกิน 5 แสนบาท ยอดการผ่อนต่อเดือนอาจจะเหลือเพียง 2 พันบาทต้นๆ

“แพ็คเกจสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยยังไม่ยิ่ง เบื้องต้นอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ เป็นดอกเบี้ยคงที่ 2 ช่วง  โดยคงที่ 2-3 ปีแรก หลังจากนั้นปรับดอกเบี้ย และให้คงที่อีก 3 ปี แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นเท่าใด  หลังจากนั้นปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว  โดยส่วนนี้กระทรวงการคลังไม่ต้องอุดหนุนดอกเบี้ย แต่ให้ธนาคารแยกบัญชีโครงการออกมาเป็นโครงการพีเอสเอ แต่จะอุดหนุนค่าธรรมเนียมการโอนให้ในโครงการนี้ให้ โดยให้ธอส.ออกค่าธรรมเนียมแทนประชาชนก่อน แล้วรัฐจะจ่ายชดเชยให้ เบื้องต้นคาดว่าภาระในส่วนนี้มีประมาณ 270 ล้านบาท”

แห่โอนบ้านหนีราคาประเมินใหม่-ภาษีมรดก

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยอดธุรกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะในเดือนพ.ย.-ธ.ค.2558 มียอดการโอน 50,300 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 45%  เฉพาะเดือนธ.ค.เดือนเดียวมีการโอน 28,000 ยูนิต  ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียม และทาวเฮาส์ เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล การรีบโอนก่อนจะการปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ และภาษีมรดกที่จะมีผลในปี 2559

สำหรับปี 2559 นี้ มีหลายปัจจัยที่จะกระตุ้นภาคการใช้จ่ายภาคที่อยู่อาศัย  ประกอบด้วยในเดือนส.ค.นี้รถไฟสายสีม่วงจะเริ่มเปิดให้บริการ มีการก่อสร้างถนน และทางด่วน  ขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะลดวงเงินการคุ้มครองลง ทำให้อาจจะมีเงินฝากบางส่วนไหลมาที่แบงก์รัฐ และส่วนหนึ่งมาลงไว้ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์แทน

ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 1.6 แสนล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2558 ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นทุกด้าน  ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 157,447 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,750 ล้านบาท คิดเป็น 10.34% และเกินเป้าหมายปี 2558 ที่กำหนดไว้ 149,800 ล้านบาท ยอดสินเชื่อ คงค้างรวม 862,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.63% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 47,049 ล้านบาท คิดเป็น 5.45% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.09% ตามภาวะเศรษฐกิจ กำไรสุทธิจำนวน 8,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.31%  ส่วนปี2559 ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.6 แสนล้านบาท