เร่งพิมพ์เขียวรถไฟฟ้าเฟส 2 ขยายรัศมี 100 กม. เชื่อมชานเมือง

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 13 มกราคม 2559

1 ปี 6 เดือน นับจากนี้ก่อนจะมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเดือน ก.ค. 2560 ตามที่โรดแมปของรัฐบาลประยุทธ์ขีดไว้ ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือนี้จะเป็นการเร่งเครื่องงานไหนที่ทำได้ทำทันทีให้เสร็จหรือให้ได้เริ่มต้นส่วนงานไหนที่ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ก็ให้รัฐบาลหน้ามาสานต่อ

ที่น่าสนใจมีการใส่โครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งที่คมนาคมจัดเซตแผนลงทุน 8 ปี (2558-2565) บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำลังยกร่าง เป็นแผนพัฒนา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2564 เป็นการการันตีว่าโครงการจะไม่ถูกปรับเปลี่ยน แม้จะมีรัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศ จะต้องเดินหน้าไปตามแผนฉบับที่ 12 นี้

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ธ.ค. 2558 มีความเห็นชอบในการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของสภาพัฒน์

ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ส่วนแรกจะเป็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง จะเน้นย้ำโครงการพัฒนาปี 2560-2564 เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่มอาเซียน

ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ไปสู่พื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ มีการก่อสร้าง ปรับปรุงถนน ขยายช่องทางจราจรไปสู่เขตเศรษฐกิจชายแดน พื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์และพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตะวันออก

ส่วนที่ 3 การพัฒนาในเรื่องของระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาและยกร่างแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าและปริมณฑล (M-Map) ระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จในปี 2559

โดยโครงข่ายที่จะเพิ่มครอบคลุมพื้นที่ 4 ลักษณะ คือ 1.ธุรกิจและเศรษฐกิจตอนในกรุงเทพฯ 2.พื้นที่ชั้นนอกกรุงเทพฯ เช่น วงแหวนรัชดาภิเษก วงแหวนกาญจนาภิเษก 3.พื้นที่ต่อเชื่อมกรุงเทพฯ เช่น นครปฐม แปดริ้ว บ้านภาชี รัศมีไม่เกิน 60-100 กม. สามารถเชื่อมต่อรถไฟ หรือรถไฟฟ้าชานเมือง และ 4.เชื่อมพื้นที่ชั้นนอกกรุงเทพฯและเมืองต่าง ๆ ของประเทศไทย

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าระยะที่ 1 จำนวน 10 เส้นทาง คาดว่าจะอนุมัติโครงการได้หมดในปี 2559 ยังเหลือมีสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน 16.4 กม. สีชมพู แคราย-มีนบุรี 34.5 กม. สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 7 กม. สีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู 7 กม. และสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา 7 กม.

"แผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 จะดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูในการเชื่อมต่อโครงข่ายในรูปลักษณะเป็นวงกลม เพื่อเชื่อมการเดินทางต่อของประชาชนที่ทำงาน กทม. หรือต่างจังหวัด ด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟได้อย่างครบถ้วน" บิ๊กคมนาคมกล่าวย้ำ

สำหรับโครงการคมนาคมที่จะนำมาเข้าร่วมแผนฉบับที่ 12 อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-พระโขนง-สะพานพระราม 9-ท่าพระ) สีน้ำตาล (แคราย-บึงกุ่ม) ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าสายใหม่จะเพิ่มโครงข่ายเป็นใยแมงมุมมากขึ้น

นอกจากนี้มีรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ได้แก่ สายปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กม. สายชุมพร-ปาดังเบซาร์ 551 กม. สายขอนแก่น-หนองคาย 174 กม. สายจิระ-อุบลราชธานี 309 กม. สายเด่นชัย-เชียงใหม่ 217 กม. สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 326 กม. สายบ้านไผ่-นครพนม 347 กม. และสายบ้านภาชี-อ.นครหลวง 15 กม.

มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่กรมทางหลวง (ทล.) ศึกษาแผนแม่บทเสร็จแล้ว จำนวน 21 สายทาง ระยะทางกว่า 6.6 พัน กม. และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 16.9 กม. รวมถึงการพัฒนาท่าเรือ ท่าอากาศยาน และโครงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา

"อาคม" กล่าวย้ำว่า แผนพัฒนาของสภาพัฒน์ฉบับที่ผ่านมาไม่ได้ระบุแผนงานโครงการที่ชัดเจน ทำให้โครงการไม่ต่อเนื่อง บางโครงการใช้เวลาดำเนินงานนาน แต่แผนฉบับที่ 12 จะนำมาเป็นแนวทางการพัฒนา จะระบุรายละเอียดแผนงานโครงการ เม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศของรัฐบาล โดยคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี และแบ่งการทำงานออกเป็นระยะละ 5 ปี อีกทั้งจะกำหนดแผนงานโครงการเพื่อให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม นำไปสู่การปฏิบัติและจัดทำงบประมาณปี 2560 ที่สำคัญให้รัฐบาลใหม่นำมาเป็นนโยบายพัฒนาประเทศต่อไป