ผลงาน 1 ปี "คมนาคม" สางปมเมกะโปรเจ็กต์ ปี"59 ลุยประมูลน้ำ-บก-ราง-อากาศ

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 28 ธันวาคม 2558

1

ถึงจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 กระทรวงคมนาคม กระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอมาร่วม 4 เดือน แต่ตลอดปีที่ผ่านมา "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ"เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่เริ่มแรก บนเวทีแถลงผลงานรัฐบาล คสช. เมื่อ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา "อาคม" โชว์ผลงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในรอบ 1 ปี โดยระบุว่า สิ่งที่ทางกระทรวงคมนาคมดำเนินการมา คาดว่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกลางปี 2559 เป็นต้นไป

เซ็นสัญญา-เร่งประมูลราง

สำหรับโครงการที่ทำในรอบปีที่ผ่านมา เริ่มจาก "ด้านราง" ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง 291 กม. วงเงินกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท (ดูตารางประกอบ) เริ่มก่อสร้าง ม.ค. 2559, งานปรับปรุงทางและแก้ไขปัญหาจุดตัดรถไฟถาวร และทางหลัก 584 แห่ง ติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ 775 แห่ง

ด้านโครงการความร่วมมือ "รถไฟไทย-จีน" ได้จัดทำรายละเอียดมากขึ้นกว่าความร่วมมือในปี 2553 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบโดยบริษัทที่ปรึกษา และเจรจารูปแบบและสัดส่วนการลงทุน ส่วน "รถไฟไทย-ญี่ปุ่น" ขณะนี้ญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษา และเดือน ม.ค.นี้จะทดสอบเดินรถขนส่งสินค้าขนาดเล็ก 12 ฟุต และกลางปีจะได้ข้อสรุปจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อเดินรถบนเส้นทางเดิมและก่อสร้างทางคู่เพิ่ม

ขณะที่รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วและรัฐบาลชุดนี้มาแก้ปัญหาเร่งรัดโครงการให้เดินหน้า เช่น สายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เร่งเปิดบริการเร็วขึ้น 4 เดือน จาก ธ.ค.เป็น ส.ค. 2559 การเดินรถสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) เร่งคัดเลือกเอกชนเดินรถให้เสร็จพร้อมกับงานก่อสร้างที่คืบหน้า 70% ทันกำหนดเปิดปี 2562 และสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ได้ต่อรองค่าจัดหาระบบรถในสัญญาที่ 3 จนแล้วเสร็จ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ม.ค. 2559 เพื่อให้ทันเปิดบริการปี 2561

ส่วนสายใหม่ ภายในปี 2559 โครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง เตรียมเสนอขอมติ ครม. ตั้งเป้าเปิดประมูลได้ทั้งหมด ได้แก่ สีส้ม สีชมพู สีเหลือง สีม่วงใต้ สีแดง Missing Link สีเขียวต่อขยายบางปูและลำลูกกา โดยกระทรวงจะเริ่มศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ให้เสร็จในปีหน้า เพื่อเพิ่มโครงข่ายให้เป็นวงแหวนมากขึ้น โดยจะบรรจุไว้ในแผนที่ 12 ของสภาพัฒน์ด้วย

ลงทุนเพิ่มถนน-น้ำ-อากาศ

"ด้านถนน" ที่ผ่านมาได้บำรุงรักษาและบูรณะเส้นทางที่ชำรุดประมาณ 6,000 กม. ยกระดับถนนและขยายช่องจราจร 2,400 กม. ยกระดับถนนลูกรังเป็นลาดยาง 780 กม. เป็นต้น เร่งรัดก่อสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ให้เสร็จก่อนกำหนด 5 เดือน จะเปิดให้บริการเดือน ก.ค. 2559 พัฒนาโครงสร้างถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบก่อสร้างถนน ปี 2558 จำนวน 9,652 ตัน ปี 2559 มีแผนใช้ปริมาณน้ำยางดิบ 19,301 ตัน และพัฒนาเส้นทางจักรยานสามารถใช้งานได้แล้ว 566.12 กม.

ขณะเดียวกันเปิดประมูลมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด 20,200 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง ม.ค. 2559, สายบางปะอิน-สระบุรี-โคราช เตรียมประกวดราคา ตั้งเป้าก่อสร้าง พ.ค. 2559 และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี อยู่ระหว่างปรับปรุงแบบเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

"ด้านทางน้ำ" ได้พัฒนาท่าเรือสาธารณะ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและปรับปรุงท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา 17 แห่ง พัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเรือแหลมฉบัง (ท่าเทียบเรือ A) เริ่มก่อสร้าง ม.ค. 2559 เปิดบริการปี 2561

"ทางอากาศ" โครงการหลักคือพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 สนามบินดอนเมืองระยะที่ 2 เปิดให้บริการ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา สนามบินภูเก็ตเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ 13 ก.พ. 2559 ในภูมิภาคยังมี อุดรธานี ลำปาง อุบลราชธานี และน่าน โดย ม.ค. 2559 จะขยายสนามบินแม่สอด และ มี.ค. 2559 เริ่มสร้างสนามบินเบตง

หากดำเนินการได้ทั้งหมดจะทำให้ระบบเศรษฐกิจประเทศเติบโตไปอีก 10 ปีข้างหน้า ที่สำคัญทำให้โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งแข็งแกร่งระยะยาว 30-50 ปี