Cr. ประชาชาติธุรกิจ 1 มีนาคม 2559
อสังหาฯรายกลาง-เล็ก กระอัก แบงก์เล็ก เพิ่มความเข้ม "ปล่อยกู้" ผวาเศรษฐกิจ-สต๊อกบ้าน-คอนโดฯล้นตลาด ค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ขอปรับยอดขายสูงถึง 60% ของมูลค่าโครงการ ขอเอกสารหลักฐานยืนยันการจองของลูกค้า-ยอดเงินโอนเข้าบัญชีจริง พร้อมลดเป้าปล่อยกู้บ้านรายย่อยปีนี้โต 5% สกัดหนี้เสียพุ่ง ฟากซีไอเอ็มบีไทย คาดยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านแค่ 50% ของผู้ยื่นขอกู้ ฝั่งแบงก์ใหญ่ "กรุงไทย-ไทยพาณิชย์" ตั้งรับตลาดยอดขายตก
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มสินเชื่อ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ธนาคารได้ปรับหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (พรีโลน) สำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลลอปเปอร์) ทั้งคอร์ปอเรต (กลุ่มที่มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท) และกลุ่มรายกลาง (ยอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาท) และรายย่อย (ยอดขายตั้งแต่ 75-150 ล้านบาท) โดยได้ขอเพิ่มข้อมูลรายละเอียดที่ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อพรีโลน เช่น ยอดขาย (พรีเซล) สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 60% ของมูลค่าโครงการ การแสดงเอกสารยืนยันการจองซื้อของลูกค้า ที่สอดคล้องยอดการโอนเงินเข้าบัญชีตามยอดการจองด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องทำแผนจุดคุ้มทุนของโครงการที่ขอสินเชื่อด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มดีเวลลอปเปอร์เอสเอ็มอีประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท หรือสัดส่วนอยู่ที่ 17% ของยอดสินเชื่อรวมที่อยู่ 1.49 แสนล้านบาท
"ที่ผ่านมา กลุ่มนี้มียอดผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าเก่าประมาณ 3-4 ปี ดังนั้นจึงนำมาสู่การพิจารณาการปล่อยกู้ที่ต้องดูมากขึ้น เราขอเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ปล่อยไปแล้วจะไม่เกิดหนี้เสียใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก" นางสุธารทิพย์กล่าว
สำหรับการอนุมัติสินเชื่อบ้านสำหรับผู้กู้รายย่อยในปีนี้ ธนาคารได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตเหลือ 5% จากปี 2558 ที่พอร์ตสินเชื่อดังกล่าวอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้ถือว่าเติบโตต่ำกว่าปีที่แล้วที่ขยายตัวได้ถึง 10% จากสิ้นปี 2557 โดยสิ้นปี 2559 จะควบคุมอัตราการผิดนัดชำระหนี้อสังหาฯไม่เกิน 0.6%
นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 พันล้านบาทจากปี 2558 ที่มีพอร์ตสินเชื่อ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่จะเห็นการเร่งโอนบ้านของกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้าน ตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ในการลดหย่อนค่าโอนและจดจำนอง ซึ่งจะสิ้นสุด 29 เม.ย. 2559
"ธนาคารได้ปรับลดยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านรายย่อย อยู่ที่ 50-55% ของจำนวนยื่นคำขอสินเชื่อทั้งหมด จากปีที่แล้วอยู่ที่ 70% เนื่องจากลูกค้ามีภาระหนี้ครัวเรือนระดับสูง" นางสาวอรอนงค์กล่าว
นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารมีการปล่อยกู้ให้ดีเวลลอปเปอร์ขนาดกลางและเล็กค่อนข้างน้อย ซึ่งไม่ถึง 5% หากเทียบกับพอร์ตสินเชื่อรวมของเอสเอ็มอีทั้งหมด ที่มียอดคงค้าง ณ สิ้นปี 58 อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท โดยปกติ ธนาคารจะพิจารณายอดพรีเซลมีสัดส่วนอยู่ที่ 30-50% ของมูลค่าโครงการ ขึ้นกับศักยภาพของลูกค้าแต่ละราย แต่ว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์ไม่ค่อยเปิดโครงการใหม่ ๆ กัน เนื่องจากทั้งปัจจัยภาวะเศรษฐกิจ จำนวนบ้าน-คอนโดฯที่มีอยู่ในตลาดจำนวนมาก ขณะที่ความสามารถของผู้ซื้อบ้านก็ลดลงด้วย ทำให้ดีเวลลอปเปอร์มองว่ายังไม่ใช่จังหวะที่จะลงทุนในขณะนี้
นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางและเล็ก ที่มูลค่าโครงการต่ำกว่า 200-500 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมา ลูกค้ารายย่อยของกลุ่มนี้มีอัตราการผิดนัดชำระที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ได้รับผลกระทบยอดขายที่ลดลง
"ดังนั้น แบงก์พาณิชย์โดยรวม รวมถึงกรุงไทย ต้องพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่ละเอียดหลายด้าน ทั้งทำเลโครงการ ยอดขายต้องเพิ่มอยู่ในเกณฑ์กำหนดอนุมัติปล่อยกู้เป็นเฟส ๆ เป็นต้น" นายอุดมศักดิ์กล่าว