ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สิน ’ภาษีมรดก’

Cr. มติชนออนไลน์ 17 กุมภาพันธ์ 2559

2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ.2559 ที่ลงนามโดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในกฎกระทรวงดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 14 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 รมว.คลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เป็นต้นไป ข้อ 2 ให้ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีการรับมรดก (1) อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย (2) หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (3) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ และ (4) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย นอกจากนี้เว็บไซต์ราชกิจจาฯยังเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิในการคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก พ.ศ.2559 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ.2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากฎกระทรวงที่ประกาศในราชกิจจาฯเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษีมรดก ก่อนนี้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้ที่ได้รับมรดกประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์, เงินฝาก, ยานพาหนะ, ตราสารทางการเงิน รวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท กรณีเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ใช่บุพการี หรือไม่ใช่ผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีอัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยผู้รับมรดกต้องเสียภาษีนับจากวันที่รับมรดก แต่ไม่เกิน 150 วัน โดยกรมสรรพากรจะเปิดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภาษีได้ไม่เกิน 5 ปี กรณีผู้เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภายใน 2 ปี ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มรายเดือน (ดอกเบี้ย) แต่ถ้าเลือกผ่อนชำระเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ต้องจ่ายเงินเพิ่มรายเดือนอีก 0.5% ของยอดภาษีที่ค้างชำระ