ลดไซส์ทางเลียบเจ้าพระยาปักตอม่อลึก 35 เมตร

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 20 มิถุนายน 2559

บริษัทที่ปรึกษาโปรเจ็กต์ทางเลียบเจ้าพระยา สรุปรูปแบบโครงสร้างตอม่อ กว้าง 5-7 เมตร ยันไม่กระทบการไหลของน้ำ ส.ค.นี้คลอดแบบใหม่

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของโครงการอยู่ในขั้นลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 33 ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ในระยะนำร่อง 14 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ชุมชนละ 2 ครั้ง ในการรับฟังความคิดเห็นและร่วมออกแบบ รวมถึงร่วมตัดสินใจ เพื่อให้ได้รูปแบบโครงการที่เป็นประโยชน์ และตรงกับความต้องการของประชาชน

ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 นอกจากนี้จะเปิดเวทีสาธารณะ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เพื่อรับฟังความคิดของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้จะได้เห็นรูปแบบที่ร่วมตกลงกับชุมชนและบริเวณรอบ ๆ

ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านความคืบหน้างานสถาปัตยกรรม ระยะทางนำร่อง 14 กม. และระยะทางตามแผนแม่บท 57 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้า ได้จัดทำกรอบแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เสร็จแล้ว

ส่วนงานอื่นที่กำลังดำเนินการอยู่ ประกอบด้วย 1.งานจัดทำแผนแม่บทและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ระยะทาง 57 กม. และขั้นรายละเอียดระยะนำร่อง 14 กม. กำลังเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ ซึ่งแบบแนวคิดจะแล้วเสร็จเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

รศ.สุพจน์ ศรีนิล ฝ่ายวิศวกรรม กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างด้านวิศวกรรมมีการออกแบบแนวคิดเบื้องต้นไว้แล้ว จะใช้เสาเข็มสปันเจาะลงในพื้นดินใต้น้ำลึกประมาณ 30-35 เมตร ทั้งนี้จะใช้ตอม่อที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ซึ่งเป็นตอม่อที่มีขนาดไม่ใหญ่ โดยจากการวิเคราะห์หากวางตั้งอยู่ริมน้ำจะไม่รบกวนการไหลของน้ำ

ทั้งนี้ทางเดิน-ทางจักรยานที่ออกแบบไว้จะมีความกว้างประมาณ5-7 เมตร และใช้การก่อสร้างระบบพรีคาสต์ โดยมองว่าจะไม่รบกวนชุมชน เพราะเป็นระบบหล่อสำเร็จรูปที่ทำมาจากโรงงาน ส่วนระยะห่างตอม่ออยู่ระหว่าง 10-20 เมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่การก่อสร้าง ขณะที่ความสูงที่สร้างจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2.20 เมตร ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเขื่อนที่สร้างสูง 3.50 เมตร ทำให้การก่อสร้างจะไม่บดบังทัศนียภาพแน่นอน