เปิดเส้นทางรถรางไฟฟ้า เชื่อมเกาะรัตนโกสินทร์- 2 ถนนสายใหม่

Cr.ฐานเศรษฐกิจ 4 กรกฎาคม 2559

กทม.เผยแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมรูปแบบรถรางไฟฟ้า 3 เส้นทางทั้งในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และบน 2 เส้นทางสายใหม่พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4,ถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช มอบสจส.ศึกษาความเป็นไปได้ คาดวงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ยันเปิดกว้างเอกชนร่วมลงทุน

นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.)ดำเนินการเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบรถรางไฟฟ้าใน 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางโดยรอบในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่บริเวณเลียบคลองผดุงกรุงเกษมไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านปากคลองตลาด ผ่านเสาชิงช้า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กลับเข้ามาสิ้นสุดที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทางประมาณ 3-4 กม. 2.เส้นทางเริ่มต้นจากสามแยกไฟฉายไปตามถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 16.4 กม. 3.ถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช ระยะทางยาวทั้งสิ้น 5.2 กม.

สำหรับโครงการบนถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 นั้นเส้นทางดังกล่าวนี้กทม.ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างถนนเส้นทางนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2554 โดยเป็นโครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่ต่อขยายถนนพรานนก จากสามแยกไฟฉาย ไปบรรจบถนนพุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 16.4 กม. ขนาด 6-8 ช่องจราจร ปัจจุบันช่วงราชพฤกษ์ – กาญจนาภิเษก เปิดใช้บริการแล้วทุกช่องทางจราจร แนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วงๆแรกระยะทาง 8 กม. ตัดผ่านถนนราชพฤกษ์ ไปบรรจบถนนกาญจนาภิเษก ช่วงหลังระยะทาง 8.4 กม. จากถนนกาญจนาภิเษกไปบรรจบถนนพุทธมณฑลสาย 4 จังหวัดนครปฐม

ในส่วนถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน บริเวณปากซอยพหลโยธิน 50 (หัวมุมบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาสะพานใหม่) ไปจนถึงถนนสุขาภิบาล 5 ในแนวตะวันออก-ตะวันตก รูปแบบถนนเป็นถนนขนาดไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร กว้างประมาณ 40-60 เมตร

“เป็นการวางรางตามแนวฝั่งเลนซ้ายของถนนซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้รถยนต์ไม่สามารถจอดในเลนซ้ายของตามแนวเส้นทางได้อีกต่อไป แต่จะไม่เป็นอุปสรรคการผ่านจุดข้ามต่างๆเพราะจะปรับแนวให้ได้ระดับกับการผ่านของรถยนต์ได้ด้วยเพียงแต่จะมีสัญญาณไฟให้ผ่านเมื่อรถรางวิ่งไปจอด ณ สถานีหรือตามป้ายจุดจอดในจุดนั้นๆ ส่วน2 เส้นทางบนถนนตัดใหม่ของกทม.นั้นจะเน้นใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเป็นหลัก”

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของสจส.กล่าวว่า เมื่อดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการซึ่งอาจจะเป็นคณะของผู้บริหารกทม.ชุดใหม่รับไปพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งนโยบายของผู้บริหารกทม.จะเปิดกว้างให้เอกชนร่วมลงทุนเดินรถและบริหารจัดการ

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มราคาที่ดินในส่วนของถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ว่าช่วงติดกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ราคายังอยู่ในระดับหลัก 4-5 หมื่นบาทต่อตารางวา แต่หากเป็นพื้นที่ติดกับถนนพุทธมณฑลสาย 1 และพุทธมณฑลสาย 4 นั้นจะอยู่ในระดับหลักแสนบาท-1.5 แสนบาทต่อตารางวาเนื่องจากเป็นถนนเมนหลัก เช่นเดียวกับถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช ราคาจะเริ่มปรับระดับ 4-5 หมื่นบาทต่อตารางวาไปสู่ระดับ 1 แสน-1.5 แสนบาทต่อตารางวาปัจจุบันยังพบว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ถนนก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้วทั้ง 2 เส้นทาง

ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เส้นทางในเกาะรัตนโกสินทร์จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วยดึงคนจากภายนอกที่มาจากเส้นทางรถไฟฟ้าอื่นๆ ให้มาเที่ยวในเกาะรัตนโกสินทร์ได้สะดวกขึ้น ซึ่งการมีรถรางแบบนี้จะช่วยให้คนต่างชาติเข้ามามากขึ้นเพราะการเดินทางสะดวก คาดการณ์เวลาได้ และปัจจุบันสัดส่วนของนักท่องเที่ยวแบบมาด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเส้นทางจากพรานนกไปพุทธมณฑลจะช่วยให้คนในพื้นที่ตะวันตกของกรุงเทพฯเดินทางมายังจุดที่สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพื่อเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯได้สะดวกขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเส้นทางเดียว หรือใช้รถไฟฟ้าที่ตลิ่งชันเท่านั้น เป็นการช่วยลดความหนาแน่นในการเดินทางของเส้นทางสายสีน้ำเงิน เพราะรถรางนี้จะช่วยให้คนที่อยู่ในซอยหรือถนนที่แยกออกจากเพชรเกษมไปไกลไม่ต้องเดินทางมาที่สถานีสายสีน้ำเงิน แต่ควรมีระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่สามารถขนถ่ายคนเข้าและออกจากสถานีรถรางต่างๆ ได้

ดังนั้นเส้นทางรอบนอกทั้ง 2 เส้นทางจึงเป็นเส้นทางเชื่อมคนในพื้นที่ตามแนวเส้นทางสามารถเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯได้สะดวกขึ้น แต่ต้องมีระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถประจำทาง เพื่อให้การเดินทางสะดวก รวมทั้งเส้นทางในเกาะรัตนโกสินทร์ด้วยที่ควรมีระบบรถประจำทาง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“เส้นทางส่วนรอบนอกทั้ง 2 เส้นทางอาจไม่ใช่เส้นทางสุดท้ายที่ทางกรุงเทพฯต้องการทำเพราะว่ากรุงเทพฯยังต้องการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นที่ไม่จำเป็นต้องวิ่งบนถนนแบบในปัจจุบัน เพราะว่าทำให้รถติด หรือมีปัญหาในการควบคุมกาจราจรแบบในปัจจุบัน พื้นที่ตามแนวเส้นทางส่วนรอบนอกทั้ง 2 เส้นทางในปัจจุบันเป็นโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมดซึ่งถ้าโครงการนี้เกิดเป็นรูปธรรมจริงจะทำให้ราคาที่ดินตลอดเส้นทางเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรได้เราอาจได้เห็นโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายก็ได้ในอนาคต” นายสุรเชษฐ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559