Cr. ฐานเศรษฐกิจ 15 กุมภาพันธ์ 2559
การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในปี 2564 หรือ 6 ปีโดยประมาณ นับจากนี้ ภาคธุรกิจต่างๆเริ่มขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงรวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยทิศทางปีนี้หลายบริษัทเริ่มประกาศถึงรูปแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุให้ตลาดรับรู้กันแล้วซึ่งการนำเสนอถือเป็นจุดขายใหม่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับ ประหยัดพลังงานที่มีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้
จุดขายเดิม
ที่ผ่านมา”จุดขาย”ที่ผู้ประกอบการมักนำมาเสนอเพื่อดึงความสนใจลูกค้ามีด้วยกัน 5 ประเภทหลักคือ
1. “ทำเล” คือจุดขายพื้นฐานของการพัฒนาโครงการหรือซื้อที่อยู่อาศัย นักพัฒนาอสังหาฯระดับโลกคนหนึ่งเคยบอกว่า เคล็ดลับความสำเร็จในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์มีอยู่ 3 คำคือ ทำเล-ทำเล และทำเล ทำเล มีความหมายที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่นบ้านที่อยู่รอบนอกเมืองการ
ใกล้จุดขึ้นลงทางด่วนถูกนำมาใช้เป็นจุดขาย หรือ คอนโดฯแนวรถไฟฟ้า ผู้ประกอบการมักเน้นจุดขาย เช่นอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ปกติผู้ประกอบการจะเลือกพัฒนาบริเวณห่างสถานีไม่เกิน 500 เมตร ) หรืออยู่ในบริเวณที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้า เช่น สถานีเตาปูนเป็นจุดตัดของ รถไฟสายสีน้ำเงินกับสีม่วง หรือ ห้าแยกลาดพร้าวเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคตกับรถไฟฟ้าใต้ดิน)เป็นต้น
2. ราคา & โปรโมชัน ราคาคือจุดขายดั้งเดิมของอสังหาฯ ซึ่งนำเสนอมาใน 2 รูปแบบ 1.คือราคาเมื่อเปรียบเทียบกับที่อยู่อาศัยนั้นๆ 2. ดาวน์ช่วงอสังหาฯเฟื่องฟู ข้อเสนอดาวน์ต่ำเป็นปัจจัยจูงใจผู้บริโภคไม่น้อย ทั้งนี้ราคามักผูกโยงกับโปรโมชันชนิดแยกกันไม่ออก กรณีตลาดอสังหาฯช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีภาวะสต๊อกล้น ผู้ประกอบการเร่งโอนด้วยข้อเสนอพิเศษสุดๆอาทิ อยู่ฟรี 2 ปี หรือ โปรโมชันที่สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ ปัญหาแบงก์ปฏิเสธคำขอเงินกู้สูง บริษัทอสังหาฯบางราย อาทิ “ศุภาลัย” เสนอว่าหากแบงก์ไม่ปล่อยกู้ยินดีคือเงินดาวน์เป็นต้น
3. ในยุคที่การแข่งขันในตลาดอสังหาฯรุนแรง ดีไซน์กับพื้นที่ใช้สอยถูกมาใช้ ในการสร้างความแตกต่างทางการตลาดมากขึ้น เช่นบ้าน สไตล์ลอฟท์ สไตล์รีสอร์ต แนวโมเดิร์น หรือ สไตล์สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง เป็นต้น ส่วนพื้นที่ใช้สอย ทาวน์เฮาส์ มักเน้น หน้ากว้าง 6 เมตร มี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ เช่นเดียวกับบ้านเดี่ยว นำเสนอบริเวณโดยรอบแล้ว พื้นที่ใช้สอยในบ้านเช่นห้องนอนหลักถูกนำมาใช้ในการนำเสนอเช่นกัน หรือกรณีคอนโดฯขนาดเล็กผู้ประกอบการพยายามแบ่งพื้นที่ใช้สอยว่ามี 2 ห้องนอนเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค
4. ชุมชนหรือ สังคมเป็นจุดขายที่นักพัฒนาอสังหาฯนำมาใช้กับโครงการบ้านราคาแพงเสมือนเป็นหลักประกันให้คนตัดสินใจซื้อบ้านที่มีราคาแพงจะได้เพื่อนบ้านที่มีฐานะระดับเดียวกันกับคุณเป็นต้น
5. ผลตอบแทนเป็นจุดขายที่ถูกนำมาใช้กับตลาดคอนโดมิเนียมมาก เนื่องจากผู้ซื้อคอนโดฯกลุ่มหนึ่งเป็นนักลงทุน การนำเสนอผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเช่าที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยสามารถดึงดูดลูกค้าได้ไม่น้อยเช่นกัน
จุดขายใหม่
อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบใน 5 ปีข้างหน้า และคนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ส่งผลให้เกิด 2 จุดขายใหม่ในวงการอสังหาฯ คือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และตลาดบ้านประหยัดพลังงาน
ปัจจุบันมีบริษัทอสังหาฯบางรายเริ่มหมายตาไปที่”ตลาดผู้สูงอายุ”เนื่องจากตลาดใหญ่ขึ้นๆและมีกำลังซื้อสูง (ดูตารางประกอบ) หรือเสนอบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อตอบสนอง”คนรุ่นใหม่”ที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อธรรมชาติ ถึงวันนี้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กหลายแห่งเริ่มพัฒนาบ้านประหยัดพลังงานออกมาเสออขายตลาดดังกล่าว
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบอกอะไร?
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การแข่งขันในตลาด(อสังหาฯ) ทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์(บ้าน-ทาวน์เฮาส์-คอนโดฯ)ให้แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด และยังสะท้อนด้วยว่า ตลาดอสังหาฯมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ขอบเขตการมองตลาดกว้างขึ้นจากเดิมทีมอง ตลาดล่าง-กลาง-บน ตลาดสำหรับคนเริ่มทำงาน ตลาดสำหรับครอบครัวขยาย เริ่มมองตลาดตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เช่นตลาดที่ตอบสนองสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือตลาดสำหรับผู้สูงวัย กล่าวโดยสรุปแล้ว “จุดขาย”อสังหาฯยุคปัจจุบัน นอกจาก ทำเล และ ราคาแล้ว การทำตลาดยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการ เฉพาะเจาะจงลงไปอีกด้วยด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559