เร่งทางเชื่อม"โทลล์เวย์-ด่วนศรีรัช 2" ข่าวดีไม่มีเวนคืนย่านบางซื่อดึงเอกชนลงขัน 5 พันล.

Cr.ประชาชาติธุรกิจ 20 มิถุนายน 2559

"สนข." เคาะรูปแบบทางเชื่อม "โทลล์เวย์-ทางด่วนศรีรัชใหม่" ใช้โครงสร้างร่วมกัน เงินลงทุน 5,135 ล้าน พาดยาว 2.3 กม. เลี่ยงเวนคืนที่ดินเพิ่มย่านบางซื่อ คาดได้ข้อสรุปรูปแบบลงทุน พ.ย.นี้

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เสนอแผนการก่อสร้างทางเชื่อมต่อ (แลมป์) ระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข หรือโทลล์เวย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้ทางทั้ง 2 โครงการ

โดย สนข.เสนอเส้นทางก่อสร้างให้พิจารณา 2 แนวทาง ซึ่งแนวเส้นทางที่ 1 จะมีจุดเริ่มต้นจากโทลล์เวย์บริเวณพื้นที่ทางแยกรัชวิภา ซึ่งเป็นจุดตัดถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งแนวเส้นทางจะสร้างบนถนนกำแพงเพชร 2 และสิ้นสุดที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางซื่อ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 2,333 เมตร ค่าก่อสร้าง 5,135 ล้านบาท

ส่วนแนวทางที่ 2 มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการเหมือนกับแนวเส้นทางที่ 1 แต่จะใช้พื้นที่คลองเปรมประชากรเป็นหลัก ระยะทาง 2,946 เมตร ค่าก่อสร้าง 5,986 ล้านบาท แต่มีข้อเสียคือจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน และมีข้อจำกัดในรูปแบบทางด้านวิศวกรรม และประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากนัก

"ประเมินแล้วแนวทางที่ 1 มีความเป็นไปได้มากสุด เพราะแนวทางที่ 2 ติดขัดการใช้พื้นที่ร่วมกับศูนย์ซ่อมบำรุงสถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ที่จะมีการวางพวงรางอยู่จำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ อีกทั้งยังต้องใช้โครงสร้างร่วมกับทางขึ้น-ลงจะเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกไปยังทางด่วนแจ้งวัฒนะที่การทางพิเศษฯให้บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BEM ผู้รับสัมปทานโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ก่อสร้างเพิ่มประมาณ 230 เมตร"

นายพีระพลกล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาของ สนข.ในเบื้องต้นค่าก่อสร้างโครงการทางเชื่อมโทลล์เวย์มุ่งหน้าไปทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก เฉพาะค่าฐานรากและเสาตอม่อ คาดว่าจะใช้วงเงิน 118 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้างฐานรากทางเชื่อมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก มุ่งหน้าไปยังโทลล์เวย์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 131 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับค่าก่อสร้างเพิ่มเติมอีกประมาณ 249 ล้านบาทนี้ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สำรองเงินงบประมาณก่อสร้างไปก่อน แล้วค่อยเรียกเก็บจากผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างทางเชื่อมดังกล่าว เนื่องจากโครงการนี้จะต้องดำเนินการคัดเลือกเอกชนมาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เนื่องจากเงินลงทุนเกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่ง สนข.จะศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ย.นี้ ที่ผลการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ จะมีข้อสรุปการก่อสร้างวงเงินและรูปแบบการร่วมทุน ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดจะเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาอนุมัติก่อสร้างต่อไป