Cr. หนังสือพิมพ์มติชน 30 พฤษภาคม 2559
พลันที่นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 และแนวโน้มปี 2559 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้กระตุ้นความคึกคัก สร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นอย่างมาก
- สศช.มั่นใจตัวเลขจีดีพีถึง3.2%
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวถึง 3.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2558 ซึ่งขยายตัว 2.8% และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาสทีเดียว การเติบโตดังกล่าวทำให้ สศช.มั่นใจว่าตลอดปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.0-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3.3% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8%
โดย สศช.มองว่าปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวมาจาก 1.การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูง 2.แรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้จัดทำเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 -มีนาคม 2559 3.จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 4.ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ และ 5.แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง
- แบงก์ชาติกำหนดกรอบไว้ 3%
ตัวเลขจีดีพีของ สศช.พบว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ที่ระบุว่าจีดีพีปี 2559 จะขยายตัว 3.1% คือยังอยู่ในกรอบมากกว่า 3% แต่ก็ลดลงจากช่วงปลายปี 2558 ที่คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.5% พร้อมกันนี้แบงก์ชาติยังปรับตัวเลขประมาณการการเติบโตของแต่ละภาคเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ ประกอบด้วย การบริโภคเอกชนจะเติบโต 1.8% จากเดิมปลายปีคาดว่าจะขยายตัว 2.8%
การลงทุนภาคเอกชนจะเติบโต 2.4% จากเดิมช่วงปลายปีคาดว่าจะขยายตัว 3.9% การอุปโภคของรัฐจะเติบโต 3.3% จากเดิมปลายปีคาดว่าจะขยายตัว 3.4% การลงทุนภาครัฐ จะเติบโต 10.7% จากเดิมปลายปีคาดว่าจะขยายตัว 8.8% การส่งออกสินค้าและบริการ จะเติบโต 1.0% จากเดิมปลายปีคาดว่าจะขยายตัว 2.1% และการนำเข้าสินค้าและบริการ จะเติบโต 0.6% จากเดิมปลายปีคาดว่าจะขยายตัว 3.1%
เมื่อมองตัวเลขคาดการณ์เติบโตของแต่ละภาคเศรษฐกิจ จะพบว่าการลงทุนของภาครัฐ คือ ตัวนำสำคัญ แต่ที่กังวล คือ การลงทุนของภาคเอกชน ที่ยังฝืดจนต้องปรับลดตัวเลขลงค่อนข้างมาก!!!
- เอกชนหั่นเป้ารัฐยันทั้งปีโตน้อย
แม้หน่วยงานเศรษฐกิจหลักของประเทศ คือ สศช.และแบงก์ชาติ จะออกมาเคาะตัวเลขจีดีพีที่ระดับ 3% ขึ้นไป แต่ล่าสุดในมุมของเอกชนที่ออกมาคาดการณ์ตัวเลขเช่นกัน ส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่สดใสนัก เริ่มจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 3%
อีกหน่วยงานที่มองตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ค่อนข้างต่ำ ขัดใจภาครัฐ คือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เพราะคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% จากเศรษฐกิจไทยในปีนี้ค่อยๆ ฟื้นตัว จีดีพีขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ขยาย 4.3% ต่อปี และต่ำกว่าประเทศในอาเซียนที่ขยายตัว 4-5% โดยปัจจัยสนับสนุน คือ ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่อง คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยว 32.4 ล้านคน และการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนที่คาดว่าโต 10% ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การส่งออกที่ฟื้นตัวต่ำจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง และเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่การบริโภคเอกชนกดดันจากภาระหนี้ภาคครัวเรือน และรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งสถานการณ์การเมืองต้องจับตาเช่นกัน
- ไทยพาณิชย์มองดีขึ้นแต่ฐานต่ำ
อีกหน่วยงานที่ออกมาพยากรณ์ คือ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองจีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.5% และคาดการณ์ส่งออกติดลบ 1.7% โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สอดคล้องกับหน่วยงานพยากรณ์อื่น คือ การใช้จ่ายภาครัฐซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาสแรก ปัจจัยที่สอง คือ ภาคการท่องเที่ยว เติบโตดีกว่าที่คาดไว้เดิม และปัจจัยที่สาม คือ การลงทุนภาคเอกชนจะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ
- เศรษฐกิจไทยขาดแรงส่งลงทุนเอกชน
หากพิจารณาจากรายละเอียดทั้งหมดดังกล่าว พบว่าสิ่งที่เหมือนกัน คือ ช่วงไตรมาสแรกการลงทุนของรัฐ คือพระเอกหลัก โดยแบงก์ชาติมองว่าทั้งปีการลงทุนรัฐจะเติบโตถึง 10.7% ขณะที่เอกชนลงทุนเติบโตเพียง 2.4% เท่านั้น ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงออกมากระตุ้นภาคเอกชนผ่านงานประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2559 ว่าการลงทุนเอกชนในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ต่ำ สัดส่วนสินทรัพย์ต่อการลงทุนอยู่ที่ 1.2-1.3% จากที่เคยมีสัดส่วนมากกว่า 2% แปลว่าเอกชนไทยส่วนใหญ่ไม่ลงทุน ดังนั้นการที่เอกชนไทยไม่ลงทุนแต่ให้รัฐบาลทำอย่างเร็ว วิ่งอยู่คนเดียว ในภาวะที่การส่งออกชะลอตัว จะไหวหรือไม่
นายสมคิดยังระบุถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.2% มีแรงขับเคลื่อนมาจากในประเทศเป็นหลักจากนโยบายกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล รวมทั้งการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกยังชะลอตามภาวะเศรษฐกิจโลก
- ส่งออกเม.ย.ชะลอตัวถึง 8%
การส่งออกเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นคีย์สำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายยอมรับว่า ส่งออกของไทยยังแป๊กจากเศรษฐกิจโลกจริงๆ เพราะติดลบถึง 8% มูลค่า 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากรวมช่วง 4 เดือนแรกปีนี้การส่งออกมีมูลค่า 69,374 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.24% นำเข้ามีมูลค่า 60,464 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 12.73% เกินดุลการค้ารวม 8,910 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งตัวเลขส่งออกดังกล่าวทำให้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนที่ติดลบ 8% หลังเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ตัวเลขเป็นบวก โดยยืนยันว่าไม่ได้ประหลาดใจมาก สาเหตุน่าจะเป็นผลจากมีช่วงวันหยุดยาวติดต่อกัน คำสั่งซื้อสินค้าต้องทำก่อนหน้าที่ก่อนโรงงานจะหยุด รวมทั้งการปิดโรงกลั่นน้ำมัน การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ และไม่ได้มีปัจจัยพิเศษด้านทองคำ ทั้งนี้ ธปท.ประมาณการตัวเลขส่งออกปีนี้ติดลบ 2%
- หอการค้าเชื่อฟื้นตัวอย่างช้าๆ
ด้านนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากมาตรการต่างๆ กระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ออกมา ประกอบกับข้อมูลจาก สศช.ชี้ว่าจีดีพี ไตรมาสแรกขยายตัว 3.2% ซึ่งถือว่าดีกว่าที่คาดคิดไว้ เชื่อว่าภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ไม่น่าจะต่ำไปกว่า 3.2% หากภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้ลงทุนตาม
"ภาคการส่งออกของไทยในตลาดโลกยังคงมีการแข่งขันที่สูงแต่ไทยก็ยังรักษาส่วนแบ่งในตลาดหลักแต่ละประเทศไว้ได้ คาดว่าส่งออกทั้งปีนี้จะขยายตัว 2% ตามภาวะตลาดโลก โดยไทยยังส่งออกได้ปริมาณที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าช่วงปีที่ผ่านๆ แต่ด้วยค่าเงินทำให้มูลค่าส่งออกหดตัว" นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติยังระบุว่า การดำเนินธุรกิจภาคเอกชนจำเป็นจะต้องรับฟังข้อมูลทางเศรษฐกิจจากหลายหน่วยงานของไทย ซึ่งข้อมูลมาจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีหน่วยงานวิจัยข้อมูลเป็นของตัวเอง ข้อมูลอาจจะมีทั้งส่วนที่ทับซ้อนและแตกต่างกันบ้าง ดังนั้นในการนำข้อมูลทางเศรษฐกิจมาใช้ประยุกต์กับแผนธุรกิจนั้น อาจจะต้องรับฟังและติดตามจาก สศช.เป็นหลัก เนื่องจากภาครัฐที่ได้ออกนโยบายต่างๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากการอ้างอิงข้อมูล สศช.
- ส.อ.ท.ตามติดตัวเลขรัฐ-เอกชน
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่างกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ที่อยู่ระหว่าง 2.8-3.5% ซึ่งตนมีตัวเลขในใจอยู่แล้ว และพยายามติดตามตัวเลขจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เอกชนในภาคอุตสาหกรรมกังวลว่าจะกระทบต่อจีดีพีปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลก เพราะยังไม่ฟื้นตัวที่กระทบการส่งออกให้ติดลบตาม
"ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโลกมีผลต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ การส่งออก อีกส่วนหนึ่ง คือ การตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ยอมรับว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่รัฐบาลทำออกมามีความน่าสนใจ แต่คำถามหลัก คือ หากเอกชนลงทุนแล้วจะขายสินค้าให้ใคร ถ้าผู้ซื้อในตลาดโลกไม่มีเงิน นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรให้ผันผวนตาม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เอกชนต้องพิจารณาการลงทุนใหม่ หรือขยายลงทุนอย่างรอบคอบ ทำให้โดนรองนายกรัฐมนตรีตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงลงทุนช้า" นายวัลลภระบุ
...หลังจากนี้จึงน่าติดตามจีดีพีตลอดปีจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนการเติบโตที่เพิ่มขึ้นย่อมมาจากการลงทุนทุกภาคส่วนที่มากขึ้น แต่การลงทุนต้องมากับความคุ้มทุนบวกกำไร แล้วในสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนแบบนี้จะมีเอกชนรายใดกล้าทุ่มเม็ดเงินลงอีกหรือไม่