เปิดโพย 30 จุด "จอดและจร" สถานีรถไฟฟ้า 10 สาย-รองรับ 2 หมื่นคันทั่วกรุง

Cr. ประชาชาติธุรกิจ 29 กุมภาพันธ์ 2559

น่าสนใจไม่น้อยกับคำบัญชาของ "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สร้างที่จอดรถเพิ่ม ดึงคนทิ้งรถส่วนตัวมาใช้บริการรถไฟฟ้าแทน ทางหนึ่งหวังผลลึก ๆ ไปถึงแก้ปัญหาการจราจรเมืองกรุงที่วิกฤตหนัก

งานนี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยขายไอเดีย ดึงเอกชนมาร่วมลงทุนทำธุรกิจที่จอดรถ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว

3

บิ๊กตู่ปิ๊งหาเอกชนลงทุน

"มีแนวคิดจะทำอย่างไรให้ลดปัญหาการจราจรได้ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้หาความเชื่อมโยงต่อระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรอยต่อของแต่ละช่วงจะต้องมีที่จอดรถ จึงให้แนวทางกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปหารือกับเอกชน ร่วมมือลงทุนสร้างที่จอดรถในเมือง เป็นตึกสูงประมาณ 10 ชั้น จากนั้นก็บริหารจัดการ เก็บค่าเช่า จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาการจราจรดีขึ้น" ซึ่ง"บิ๊กตู่" ยอมรับว่า แม้จะมีรถไฟฟ้า ยังมีปัญหาที่จอดรถอยู่ดี จึงให้หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องจัดทำที่จอดรถ ให้บริการในพื้นที่ที่การจราจรติดขัด เช่น ในศูนย์การค้า เป็นต้น ต้องมีที่จอดรถมีระยะห่าง 300-500 เมตร ซึ่งไม่มีวิธีการอื่นทำได้ เพราะตอนนี้รถมากกว่าถนน

ดึงคนชานเมืองใช้บริการ

"ต้องหาที่จอดรถมาก ๆ แล้วก็เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าที่จะสร้าง เพราะว่าขาด ๆ เป็นตอน ๆ อย่างนี้ไม่ได้ ไปไม่ถึงที่ทำงาน พร้อมกับหาวิธีการทำยังไงราคาจะถูกลง ต้องไปชดเชยเอกชนด้วยอะไร เช่น หารายได้ในสถานที่ขายตั๋ว ในสถานีต่าง ๆ ต้องทำแผนงานขึ้นมาแล้วไปหาผู้ประกอบการมาร่วมทุนกับรัฐ"

นับเป็นแนวคิดที่ดี หาก "รัฐบาล คสช." ผลักดันได้สำเร็จ เพราะปัจจุบันจุดจอดรถใกล้รถไฟฟ้าหายาก หากเพิ่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดต้นทาง-ปลายทาง จะเป็นการจูงใจให้คนปรับโหมดการเดินทางจากรถมาสู่ระบบรางมากขึ้น

เปิดโผจุดจอดรถ 2.2 หมื่นคัน

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าในแนวรถไฟฟ้าทั้งสายที่เปิดบริการไปแล้วและสายใหม่ มีที่จอดรถร่วม 22,844 คัน แยกเป็นรถไฟฟ้าที่เปิดบริการกว่า 5,769 คัน มีทั้งจอดฟรีและเสียเงิน

ปัจจุบันมีที่จอดรถใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสมีอยู่ 3 สถานี คือ 1.สถานีหมอชิต เป็นลานจอดรถฟรีบริเวณพื้นที่หมอชิตเก่า จอดได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-01.00 น. ประมาณ 1,500 คัน 2.สถานีเพลินจิต อาคารเวฟเพลส ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 06.00-22.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ ถ้าเป็นวันธรรมดาเสียค่าที่จอดรถชั่วโมงละ 30 บาท และ 3.สถานีอ่อนนุช อาคารเอเชียพาร์ค สุขุมวิท 81 เปิดบริการ 06.00-24.00 น. จอดได้ประมาณ 300 คัน อัตราค่าบริการชั่วโมงแรก 15 บาท เกิน 1 ชั่วโมงคิดอัตราเหมาจ่ายรวมทั้งวัน 65 บาท หรือเหมาจ่ายรายเดือน จอดเฉพาะจันทร์-ศุกร์ เดือนละ 1,000 บาท

ใต้ดิน-แอร์พอร์ตลิงก์ ได้ 4 พันคัน

"รถไฟฟ้าใต้ดิน" ตลอดเส้นทางจากหัวลำโพง-บางซื่อ มีบริการที่จอดรถ 12 แห่ง เป็นอาคารจอดรถ 2 แห่ง และลานจอดรถ 10 แห่ง รวม 2,979 คัน ประกอบด้วย อาคารจอดรถ 9 ชั้น สถานีลาดพร้าว จอดรถได้ 2,200 คัน, ลานจอดรถ สถานีรัชดาภิเษก 75 คัน, ลานจอดรถ สถานีห้วยขวาง 73 คัน, ลานจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 30 คัน (เฉพาะรายเดือน), อาคารจอดรถ 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 205 คัน, ลานจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ปากซอยรัชดาภิเษก 6) 106 คัน (เฉพาะรายเดือน)ลานจอดรถ สถานีพระราม 9 (รัชดาภิเษก ซอย 2) 50 คัน, ลานจอดรถ สถานีเพชรบุรี 54 คัน, ลานจอดรถ สถานีสุขุมวิท 33 คัน, ลานจอดรถ สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 79 คัน, ลานจอดรถฝั่งตรงข้ามศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 42 คัน (เฉพาะรายเดือน) และลานจอดรถ สถานีสามย่าน 32 คัน

"แอร์พอร์ตลิงก์" มีที่จอดรถ 6 แห่ง

รวม 1,290 คัน ที่สถานีพญาไท 10 คัน สถานีราชปรารภ 30 คัน สถานีมักกะสัน 350 คัน สถานีหัวหมาก 350 คัน สถานีบ้านทับช้าง 50 คัน สถานีลาดกระบัง 500 คัน 7 สายใหม่รับได้ 1.7 หมื่นคัน

ส่วนที่จอดรถตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ จำนวน 7 สายทาง มีที่จอดรถได้ประมาณ 17,025 คัน อยู่ในแนว "สีม่วง" ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จะเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการเดือน พ.ค.นี้ มีอาคารจอดรถ 4 แห่ง รวม 5,520 คัน ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ 1,900 คัน สถานีสามแยกบางใหญ่ 1,450 คัน สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ 1,070 คัน และสถานีนนทบุรี 1 ที่ล่าสุดกระทรวงคมนาคมปรับแบบก่อสร้างจากเดิมจอดได้ 430 คัน เป็น 1,100 คัน

"สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย" ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค จะเปิดบริการเดือน เม.ย. 2562 มีที่สถานีหลักสอง จำนวน 2 อาคาร จอดได้ประมาณ 1,000 คัน แยกเป็นอาคาร 10 ชั้น 650 คัน และอาคาร 8 ชั้น 350 คัน

ด้าน "สีเขียวต่อขยาย" ช่วง "แบริ่งสมุทรปราการ" จะเปิดบริการทั้งเส้นทางเดือน ก.พ. 2561 มีที่จอดรถ 1 แห่งที่สถานีเคหะสมุทรปราการ 1,200 คัน และ "ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" จะเปิดบริการเดือน ก.พ. 2563 มีที่จอดรถ 2 แห่ง รวม 1,755 คัน ที่สถานี กม.25 จอดได้ 1,042 คัน และอยู่ใกล้สถานีคูคต 713 คัน

ขณะที่สาย "สีแดง" ช่วง "บางซื่อ-รังสิต" เปิดบริการปี 2563 มีที่จอดรถ 1 แห่ง อยู่ใต้ดินสถานีกลางบางซื่อ จอดได้ 1,700 คัน

ชมพู-ส้มใช้ที่จอดมีนบุรีร่วมกัน

"สีชมพู แคราย-มีนบุรี" เปิดบริการปี 2563 มีที่จอดรถ 1 แห่ง สถานีมีนบุรี 3,000 คัน จะใช้ร่วมกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ตามแผนจะเปิดบริการปี 2565 และมีที่จอดรถเพิ่มอีก 1 แห่ง จอดได้ประมาณ 1,200 คัน ส่วน "สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง" จะเปิดบริการปี 2563 มีที่จอดรถที่สถานีศรีเอี่ยม 5,000 คัน

สุดท้าย "สีม่วงส่วนต่อขยาย" จากเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เปิดปี 2565 มี 2 แห่ง รวม 3,400 คัน ที่สถานีบางปะกอก เป็นอาคาร 10 ชั้น จอดได้ 1,700 คัน และสถานีราษฎร์บูรณะ เป็นอาคาร 8 ชั้น จอดได้ 800 คัน และอาคาร 10 ชั้น จอดได้ 900 คัน

รฟม.จ้างเอกชนบริหารสายสีม่วง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนจะลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มในแนวรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีที่ดิน จะต้องมีการเวนคืนเพิ่ม แต่หากเอกชนมีที่ดินและสนใจจะลงทุนก่อสร้าง ทาง รฟม.ก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพราะหากดำเนินการได้จะทำให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น

สำหรับการให้บริการอาคารจอดรถแนวสายสีม่วงที่จะเปิดบริการเดือน พ.ค.นี้ รฟม.จะบริหารจัดการเอง โดยจ้างบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์มาจัดเก็บให้ เนื่องจาก รฟม.จะต้องควบคุมการเก็บค่าจอดรถไม่ให้แพงเกินไป ซึ่งการเก็บค่าจอดจะเป็นอัตราเดียวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุก 2 ชั่วโมงเก็บ 15 บาท ส่วนผู้ไม่ได้ใช้บริการชั่วโมงละ 40 บาท ยกเว้นลานจอดรถสถานีเพชรบุรี สุขุมวิท และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั่วโมงละ 50 บาท

หากรถไฟฟ้ามาตามนัดทุกเส้นทาง อนาคตธุรกิจรับจอดรถอาจจะเฟื่องฟูกว่าทุกวันนี้ก็เป็นไปได้ เพราะตามที่ประมาณการจะมีคนใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบ 5.36 ล้านเที่ยวคน/วัน