Cr.ประชาชาติธุรกิจ 26 พฤษภาคม 2559
บอร์ดรถไฟสับเกียร์ประมูลโปรเจ็กต์ค้างฟ้า ล้างท่อทางคู่ ซื้อหัวรถจักร ดึงเอกชนร่วมทุน PPP ไฮสปีดเทรน เดินรถขนส่งสินค้าสาย "ขอนแก่น-แหลมฉบัง" และพัฒนาคอมเพล็กซ์ยักษ์บนที่ดิน 3 ทำเลทอง ให้สัมปทานยาว 25-60 ปีจูงใจ หวังสร้างรายได้ ปลดแอกภาระหนี้แสนล้าน
นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า งานด่วนของ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งให้เสร็จในปีนี้ คือเร่งประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางระยะเร่งด่วน รวม 993 กม. เงินลงทุน 136,931 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562-2563
ล้างท่อประมูลทางคู่-ไฮสปีดเทรน
ขณะนี้เริ่มสร้างแล้วสายจิระ-ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และภายในเดือน มิ.ย.นี้มี 1 เส้นทางจะเปิดประมูลคือสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ที่เหลือจะเร่งขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่ สายมาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง 4 เส้นทางขอใช้มาตรา 44 เปิดประมูลคู่ขนานกับการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะยังไม่เซ็นสัญญาก่อสร้างจนกว่าอีไอเอจะผ่าน
อีกทั้งเร่งประมูลรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างปี 2560 ซึ่งโครงการจัดอยู่ใน PPP Fast Track จะทำให้การประมูลแล้วเสร็จใน 9 เดือน โดยการลงทุนจะใช้รูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 แบบ PPP Net Cost หรือสัมปทาน 25 ปี ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติโครงการเสนอให้กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP และ ครม.เห็นชอบแล้ว
เร่ง PPP เดินรถสายอีสาน
นอกจากนี้บอร์ดยังอนุมัติแผนลงทุนการขนส่งสินค้าด้วยหัวรถจักรไฟฟ้าเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-แหลมฉบังระยะทาง516 กม. จะให้เอกชนลงทุน PPP Net Cost หรือสัมปทาน 60 ปี ในงานขบวนรถและอู่จอดและซ่อมบำรุง ส่วนรัฐลงทุนงานทางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เงินลงทุนรวม 47,588 ล้านบาท
แยกเป็นค่างานก่อสร้างทางคู่และระบบอาณัติสัญญาณเดินรถดีเซลช่วงมาบกะเบา-จิระ วงเงิน 29,809 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้ก่อสร้างช่วงนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเพื่อให้สามารถนำรถไฟฟ้ามาเดินรถได้ วงเงิน 17,799 ล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการเดือน พ.ย.นี้ เริ่มคัดเลือกเอกชนและเสนอ ครม.อนุมัติเดือน ธ.ค. 2559-พ.ค. 2560 จากนั้นเดือนมิ.ย. 2560-2563 เริ่มก่อสร้างทางคู่ช่วงมาบกะเบา-จิระที่เอกชนที่รับสัมปทานจะเป็นผู้ก่อสร้าง แต่ ร.ฟ.ท.ออกเงินงบประมาณ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2565
"ก่อนหน้านี้บีทีเอสเคยเสนอผลศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว สนใจจะลงทุนเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางดังกล่าว แต่เราไม่ได้ปิดกั้น เปิดให้เอกชนทุกรายเข้าร่วมลงทุน" นายสราวุธกล่าวและว่า
ร.ฟ.ท.ได้ลงนามกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟภายในท่าเรือแทนรถบรรทุกที่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องรถติดซึ่งเมื่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 แล้วเสร็จ ทาง ร.ฟ.ท.เตรียมความพร้อมเรื่องหัวรถจักรไฟฟ้า แคร่ในการขนส่งสินค้าทั้งหมด ซึ่งการขนส่งทางรางจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความปลอดภัย และการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถตรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ผ่านขบวนรถไฟได้แล้ว โดยได้รับการประสานความร่วมมือทั้งการท่าเรือ รถไฟ และศุลกากร
ซื้อหัวรถจักรเพิ่มการขนส่งสินค้า
"ปัญหาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ มีปัญหาคือขาดแคลนหัวรถจักรและตู้แคร่ เพราะจัดซื้อล่าช้า ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งสินค้าทั้งระบบ ซึ่งผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนในการที่จะมีรถให้บริการ แต่มีเอกชนบางรายที่รอไม่ไหวได้ซื้อหัวรถจักรมาลากจูงเอง เช่น ทีพีไอ"
สำหรับการจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนในแผนใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้จัดซื้อแล้วมีดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาทซื้อจากจีน, จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 115 คัน วงเงิน 4,981.05 ล้านบาทจากจีน ในเดือน พ.ค.นี้ จะได้รับรถชุดแรกจำนวน 13 คัน, รถบรรทุกสินค้า 308 คันกว่า 770 ล้านบาทจากจีน ใน 1 ปีจะส่งมอบรถลอตแรก 150 คัน
ส่วนโครงการกำลังจะประมูลมีรถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนรถ GE 50 คัน วงเงิน 6,562.5 ล้านบาท คาดว่าเซ็นสัญญาเดือน ส.ค.นี้ และจัดหารถดีเซลราง 186 คัน วงเงิน 13,505 ล้านบาท อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการจาก ครม. คาดว่าเซ็นสัญญาเดือน ก.ย.นี้ รวมถึงซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตรอม 56 คัน วงเงิน 3,360 ล้านบาท กำลังพิจารณาจะซื้อใหม่แทนการซ่อม
ดึงเอกชนพัฒนา 3 ทำเลทอง
ด้านการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์นายสราวุธกล่าวว่า ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดให้ ร.ฟ.ท.นำที่ดินที่สามารถจัดหาประโยชน์ได้ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่กว่า 3 หมื่นไร่ ให้นำมาพัฒนาให้เกิดรายได้มากที่สุด เพื่อลดภาระหนี้มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า มี 3 แปลงใหญ่ใจกลางเมืองจะนำมาพัฒนาได้ทันที แปลงแรกคือสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ มูลค่าโครงการ 68,183 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดอนุมัติเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว จะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 แปลง ได้แก่ โซน A 35 ไร่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อ พัฒนาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ เช่น โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้าและที่จอดรถ มูลค่าการลงทุน 9,363 ล้านบาท
โซน B 78 ไร่ ติดกับถนนกำแพงเพชรและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน พัฒนาเป็นแหล่งค้าปลีก-ค้าส่ง, ศูนย์กลางการ trading, ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม มูลค่าลงทุน 24,744 ล้านบาท และโซน C 105 ไร่ อยู่บนพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 พัฒนาเป็นเมืองใหม่ มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและการพักผ่อนหย่อนใจ มูลค่าลงทุน 34,076 ล้านบาท โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการจะให้เอกชน PPP ระยะเวลา 30 ปี เพื่อรองรับกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) จะเปิดใช้บริการในปี 2562 ส่วนสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ มูลค่า 10,413 ล้านบาท และบริเวณ กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ มูลค่า 18,370 ล้านบาท กำลังทบทวนโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556
ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งทำการย้ายโรงซ่อมจากมักกะสันไปยังแก่งคอย เพื่อนำที่ดินย่านมักกะสัน เนื้อที่ 497 ไร่มอบให้กับกรมธนารักษ์เพื่อชำระหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาทให้กับกระทรวงการคลัง จะทำให้ภาระหนี้ของ ร.ฟ.ท.ลดลงจากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนจะทำให้ ร.ฟ.ท.พ้นจากภาวะขาดทุนนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะรายได้หลักยังเป็นการเดินรถที่ยังขาดทุนอยู่ สิ่งที่เป็นกำไรคือการบริหารสินทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยกว่า 2-3 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น