Cr.ประชาชาติธุรกิจ 29 เมษายน 2559
REIC สำรวจอสังหาฯภาคใต้ พบมีการระบายสต็อกอาคารชุดดีขึ้น ปัจจัยบวกจากราคายางพาราขยับตัวขึ้น หวังอานิสงส์การลงทุนภาครัฐช่วยกระตุ้นในอนาคต เผยสถิติห้องชุดภูเก็ต เหลือขาย 4,300 หน่วย ชะอำ-หัวหิน เหลือขาย 3,900 หน่วย
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ ในช่วงปี 2557 เป็นต้นมา เห็นได้ว่าตลาดจัดสรรแนวราบยังมีการเปิดตัวโครงการอย่างสม่ำเสมอ แต่การเปิดตัวคอนโดมิเนียมลดลง เนื่องจากปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้การขายยังเน้นการระบายสต็อก
โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภาคใต้คือราคายางพารา ซึ่งลดลงมากในระยะหลัง โดยเฉพาะปี 2558 ที่เคยลงต่ำสุดประมาณ 40 บาท/กก. จากที่เคยพุ่งสูงเกิน 100 บาท/กก. ทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ซบเซาลง แต่ราคายางพาราเริ่มกระเตื้องขึ้นช่วงต้นปี 2559 นี้ ขึ้นมาเป็น 60 บาท/กก.ตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้
และภาครัฐมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่ง ที่น่าจับตามอง เช่น มอเตอร์เวย์หมายเลข 8 นครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ ซึ่งจะทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ชะอำ-หัวหินสะดวกขึ้นมาก สร้างความคึกคักให้ทำเล, การปรับปรุงอุโมงค์ลอดทางแยกในจ.ภูเก็ต จะช่วยแก้ปัญหารถติดในเกาะภูเก็ต ทำให้การคมนาคมขนส่งดีขึ้น
รวมทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.สะเดา จ.สงขลา หากมีความคืบหน้ารวดเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตดีขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้ออสังหาฯ ปัจจุบันเห็นได้ว่ามีการลงทุนพัฒนาอาคารพาณิชย์มากขึ้นแล้วในอ.สะเดา
นอกจากนี้มีปัจจัยธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งถือว่ายังเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดี โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวสูง ปัจจุบันยังมีนักท่องเที่ยวระดับบนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากจากประเทศจีนและอินเดีย แม้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในการขายคอนโดมิเนียม แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว
“ตลาดที่เติบโตได้ดีที่สุดในภาคใต้คือชะอำ-หัวหิน ซึ่งการขายไปได้เรื่อยๆ ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดฯ อาจมีเพียงบางโครงการที่ลงทุนขนาดใหญ่ทำให้ต้องเร่งระบายสต็อกมาก ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ต มีการระบายสต็อกได้ดีขึ้น ยอดขายโครงการเก่าสูงขึ้น แต่ต้องระมัดระวังว่าตลาดภูเก็ตยังไม่อยู่ในช่วงขาขึ้นเพราะไม่ใช่ยอดขายโครงการใหม่” นายสัมมากล่าว
สำหรับรายละเอียดการสำรวจตลาดอสังหาฯภาคสนามของ REIC สำรวจเมื่อเดือนก.ย.-ต.ค.58 พบว่า
1. จ.ภูเก็ต มีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังอยู่ระหว่างขาย 37,900 หน่วย มูลค่า 135,100 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 15,500 หน่วย มูลค่า 61,800 ล้านบาท และอาคารชุด 21,300 หน่วย มูลค่า 73,300 ล้านบาท
โดยหน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย 3,400 หน่วย มูลค่ารวม 14,600 ล้านบาท หน่วยอาคารชุดเหลือขาย 4,300 หน่วย มูลค่า 16,600 ล้านบาท
2. จ.สงขลา (อ.หาดใหญ่ อ.เมือง และอ.สะเดา) มีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังระหว่างขาย 15,400 หน่วย มูลค่ารวม 52,400 ล้านบาท แบ่งเป็น บ้านจัดสรร 9,800 หน่วย มูลค่า 39,200 ล้านบาท และอาคารชุด 5,600 หน่วย มูลค่า 13,200 ล้านบาท
หน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย 3,200 หน่วย มูลค่า 13,300 ล้านบาท และหน่วยอาคารชุดเหลือขาย 1,100 หน่วย มูลค่า 3,000 ล้านบาท
3. จ.ประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน และอ.ปราณบุรี) มีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังระหว่างขาย 12,400 หน่วย มูลค่ารวม 50,400 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 5,300 หน่วย มูลค่า 22,300 ล้านบาท และอาคารชุด 6,800 หน่วย มูลค่า 28,100 ล้านบาท
หน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย มี 1,800 หน่วย มูลค่า 8,800 ล้านบาท และอาคารชุดเหลือขาย 1,600 หน่วย มูลค่า 6,400 ล้านบาท
4. จ.เพชรบุรี (อ.ชะอำ และอ.เมือง) มีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังระหว่างขายทั้งสิ้น 16,965 หน่วย มูลค่ารวม 57,500 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 3,050 หน่วย มูลค่า 11,700 ล้านบาท และอาคารชุด 13,850 หน่วย มูลค่า 45,800 ล้านบาท
หน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย มี 1,000 หน่วย มูลค่า 3,500 ล้านบาท และอาคารชุดเหลือขาย 2,500 หน่วย มูลค่า 7,700 ล้านบาท
5. จ.สุราษฎร์ธานี มีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังระหว่างขายทั้งสิ้น 6,200 หน่วย มูลค่ารวม 18,200 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 5,000 หน่วย มูลค่า 16,000 ล้านบาท และอาคารชุด 1,200 หน่วย มูลค่า 2,200 ล้านบาท
หน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย มี 1,700 หน่วย มูลค่า 5,500 ล้านบาท และอาคารชุดเหลือขาย 200 หน่วย มูลค่า 350 ล้านบาท
6. จ.นครศรีธรรมราช มีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังระหว่างขาย 4,650 หน่วย มูลค่ารวม 15,800 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 4,500 หน่วย มูลค่า 15,600 ล้านบาท และอาคารชุด 150 หน่วย มูลค่า 200 ล้านบาท
หน่วยบ้านจัดสรรเหลือขาย มี 1,200 หน่วย มูลค่า 4,500 ล้านบาท และอาคารชุดเหลือขาย 12 หน่วย มูลค่า 15 ล้านบาท