แห่ขอตั้งเขตศก.พิเศษเพิ่ม จันทบุรี/อ.เบตง ยะลา/บึงกาฬ ชูจุดแข็งการค้าเพื่อนบ้าน

Cr. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 15 ธันวาคม 2558

2

จังหวัดชายแดนยังแห่เสนอมหาดไทย ขอตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่ม เผยที่เสนอแล้วมี จันทบุรี, อ.เบตง ยะลา และบึงกาฬ ชูความเป็นหัวเมืองชายแดนที่มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน แถมมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เตรียมชงที่ประชุมกนพ.ชี้ขาด ขณะที่สภาพัฒน์ชี้ “พล.อ.ประวิตร” ประธานบอร์ดกบพ.มอบนโยบาย “ทำน้อย เกิดเร็ว”

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดชายแดนที่เสนอมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มจากระยะแรก และระยะ 2(ดูตาราง) ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี, อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และจังหวัดบึงกาฬ โดยให้เหตุผลว่ามีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน มีโครงข่ายคมนาคมค่อนข้างสมบูรณ์ และเป็นเมืองชายแดนที่มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าต้องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบต่อไป หลังจากเร่งดำเนินการ 10 จังหวัดชายแดนเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งเป็นระยะแรก 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา และหนองคาย ระยะ 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย กาญจนบุรีนครพนม และนราธิวาส โดยเฉพาะจังหวัดตากและสระแก้วจะต้องเกิดก่อนคือการเข้าพื้นที่ลงทุนของเอกชน

ด้านนายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางหอการค้าฯและจังหวัดได้เสนอต่อรัฐบาลมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากมองว่ามีความพร้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ผลไม้ อัญมณีระดับท็อปของประเทศ ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศและสร้างรายได้เข้าประเทศมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่โดดเด่นที่สุดคือ การค้าชายแดนที่มีมากถึง 5 ช่องทาง เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา โดยมีด่านถาวรถึง 2 ด่าน คือ ที่บ้านแหลมและบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน และด่านชั่วคราวอีก 3 ด่าน อาทิ บ้านสวนส้ม และบึงชนังล่าง เป็นต้น “การค้าชายแดนกับกัมพูชาช่วงนี้ค่อนข้างดีมาก เนื่องจากกัมพูชาต้องการพัฒนาบ้านเมือง จึงต้องการสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ จำนวนมาก หากรัฐบาลสนับสนุนให้จังหวัดจันทบุรี

เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม ก็จะเพิ่มมูลค่าค้าชายแดนและค้าข้ามแดนได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25-30% ต่อปี และอนาคตสามารถขยับไปที่ 5 หมื่นล้านถึงแสนล้านบาทได้ หากได้รับการสนับสนุนดังกล่าว”

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กบพ.) ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา และให้ยุบคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีนโยบายเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกับทางสภาพัฒน์ว่า “ทำให้น้อยและสำเร็จเร็ว ยังไม่เปิดพื้นที่เยอะ” หรือเน้นส่งเสริม 10 จังหวัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อนและเร่งผลักดัน จังหวัดที่มีศักยภาพให้เกิดขึ้นก่อน คือ จังหวัดตากและสระแก้ว ซึ่งขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนเข้าพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะสระแก้วได้มีโรงงานน้ำตาลขอนแก่นเข้าพื้นที่แล้ว

อนึ่งก่อนหน้านี้มีอีกหลายจังหวัดที่ประสงค์จะขอตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ เชียงใหม่ และระนอง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/12/15/21725
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,113 วันที่ 13 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558​