Cr. ฐานเศรษฐกิจ 16 มีนาคม 2559
เมื่อปลายปี 2558 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีความหวังว่า นับจากไตรมาส 2 ปี 2559 เป็นต้นไป เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ หลังพบว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญในประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หากดูจากมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ออกมาโหมโรงหนักหน่วงเป็นระลอก ช่วงโค้งท้ายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเร่งรัดการใช้จ่ายตามงบประมาณรัฐ ในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่อีกด้านก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณบวก ดูจากที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงานลดลง ส่วนสหภาพยุโรป เศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เช่นเดียวกับจีนแม้การขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพี จะลดลงแต่ก็ยังเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่ และเชื่อว่ารัฐบาลจีนสามารถบริหารจัดการปัญหาการให้ดีขึ้นได้ในเร็ววัน
จากสัญญาณทิศทางบวกดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาประมาณการว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2559 จะขยายตัวได้ถึง 3.5% ขณะที่สำนักวิจัย ธนาคาร CIMB คาดการณ์ว่าจีดีพีโต 3.3% เช่นเดียวกับที่ภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าจีดีพีจะเติบโตระหว่าง 3-3.5%
2 เดือนแรกมองไม่เห็นข่าวดี
แต่ในความเป็นจริงผ่านไปแล้ว 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.59) ปัจจัยภายนอกที่มาจากสถานการณ์โลกกลับเปลี่ยนไปต้นปี เกิดเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์กับประเทศอิหร่าน ภายหลังจากเหตุการณ์ที่มีชาวอิหร่านบุกเผาสถานทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะราน ตามมาด้วยเกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลขึ้นสู่ท้องฟ้า และดำเนินการปล่อยจรวดส่งดาวเทียม
ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบก็หลุดกรอบ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้มีผลต่อผู้ค้าน้ำมันในตะวันออกกลางด้านรายได้ที่ลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งความมั่งคั่งของตลาดหุ้นบริษัทพลังงานในโลกก็ตกต่ำลง ยิ่งบั่นทอนเศรษฐกิจโลก ต่อมาบรรดานักวิเคราะห์ก็ออกมาคาดต่ออีกว่า ราคาน้ำมันดิบอาจร่วงไปถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
เศรษฐกิจโลกยังผันผวน
อีกทั้งบรรดาประเทศผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ก็ยังปลุกเศรษฐกิจไม่ขึ้น เช่น จีน เกิดความปั่นป่วนของตลาดหุ้น ท่ามกลางกระแสหวาดวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินสู่ระบบการเงินในประเทศ เพื่อลดความตื่นตระหนักของนักลงทุน และก่อนหน้านี้ธนาคารกลางของจีนได้กำหนดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าสุดในรอบ 4-5 ปี กระทั่งมกราคมที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกจีนติดลบ ดัชนีการผลิตยังคงชะลอตัว ขณะที่ญี่ปุ่นรัฐบาลต้องออกมาตรการเร่งบริโภคภายในให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หวังว่าจะมีเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้น ปลุกกำลังซื้อให้ขยายตัวจาก 0.9% เป็น2% ก็ทำท่าจะคว้าน้ำเหลว เพราะเวลานี้ประชาชนยังคงออมเงินไว้ในธนาคารเช่นเคย
ด้านสหภาพยุโรป ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องมีมติผ่อนปรนมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมจากลบ 0.3% ไปสู่ลบ 0.4% ลดดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์จาก 0.05% มาเป็น 0% ลดดอกเบี้ยกลไกเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ลง 0.05% มาที่ 0.25% พร้อมทั้งใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) เพิ่มจาก 2.31 ล้านล้านบาทไปเป็นเดือนละราว 3.08 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแบบจัดหนัก!
ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง
ดูปัจจัยภายนอกแล้วหันกลับมามองเศรษฐกิจไทย อีกเดือนเศษใกล้จบไตรมาสแรก ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวก โดยผลสำรวจจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ระบุว่าความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยกว่า 1.2 พันราย ครอบคลุมใน 44 กลุ่มอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 พบว่า ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในช่วงดังกล่าวปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.7 ลดลงจากที่ได้มีการสำรวจช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ระดับ 104.4 เพราะกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซื้อยังชะลอตัวอยู่ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง
อีกทั้งตัวเลขเดือนมกราคมปี 2559 ส่งออกยังติดลบ 9% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และต่ำที่สุดในรอบ 50 เดือน ทำเอาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ต้องออกมาคาดการณ์ว่า ไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกอาจจะติดลบ 5% โดยสรท. ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับประมาณการส่งออกอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเร็วๆ นี้
Q1 ยังไม่พื้นแห่ปรับจีดีพี
เหตุการณ์โลกและปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้หน่วยงานรัฐ-เอกชนด้านเศรษฐกิจต้องออกมาประกาศ ปรับประมาณการจีดีพีปี 2559 ใหม่ เริ่มตั้งแต่สศช.ที่ปรับไปแล้วก่อนหน้านี้จาก 3.5% เหลือแค่ 3.3% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยนายวิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ธปท. จะแถลงปรับประมาณการจีดีพีรอบใหม่ โดยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่า 3.5% ซึ่งเป็นประมาณการเดิม หลังจากที่มองเห็นความเสี่ยงโดยเฉพาะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าเดิม
กกร.ประเมินใหม่เม.ย.นี้
สอดคล้องกับที่ภาคเอกชนโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กกร.เป็นห่วงว่า เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกภาคส่วนแผ่วลงจากช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย
รวมถึงปัญหาการส่งออกที่ปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่หดตัวลงแล้ว ดังนั้นการประชุมกกร.ในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะมีการประเมินตัวเลขจีดีพีของประเทศใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในดับ 3-3.5%
นักวิชาการ/เอกชนแนะทางออก
ต่อเรื่องนี้ในมุมของนักวิชาการ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังปีใหม่มาปัจจัยภายนอกที่มาจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปอีก ทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และปัจจัยภายในที่เผชิญกับภัยแล้งอย่างหนักหน่วง ทำให้ความหวังที่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ ทำท่าจะยากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เพราะดูจากไตรมาสแรกทุกปัจจัยที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณบวก อีกทั้งปัญหาภายนอกกลายเป็นประเด็นซ้ำเติมปัญหาเก่า ทำให้ไทยถูกหางเลขไปด้วย เพราะพึ่งพาการส่งออกมาก ตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจจะซึมต่อเนื่องจากไตรมาสแรกยาวไปถึงไตรมาส 2 นี้ได้
“พอสถานการณ์เปลี่ยนไป รัฐบาลยังไม่ได้เตรียมมาตรการอะไรออกมารับมือ ยกเว้นการอัดงบช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งเท่านั้น”
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำได้ดีที่สุด และเร็วที่สุดได้ในขณะนี้คือลงไปให้น้ำหนักมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยจังหวะที่นักท่องเที่ยวไม่ไปเที่ยวอเมริกา ยุโรป ให้เปลี่ยนเส้นทางมาเที่ยวไทย รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดน และเร่งโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐให้เร็วขึ้นเชื่อว่าหากทำได้จะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว
ด้านภาคเอกชนนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่าปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยที่เสี่ยงมากในเวลานี้ และการที่ภาครัฐบาลโฟกัสไปที่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อโดยบุกตลาดCLMV ที่มีกำลังซื้อรวมกันกว่า 160 ล้านคน ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะแต่ละประเทศใน CLMV มีจีดีพีเติบโต ไล่ตั้งแต่กัมพูชา จีดีพีโต 7.3% สปป.ลาว จีดีพีโต8% เวียดนามจีดีพีโต 6% และเมียนมาจีดีพีโต 7.3% การเติบโตนี้มาจากการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ ภาคท่องเที่ยว และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอที่ขยายตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ไทยจะต้องขับเคลื่อนตลาดเดิมเชิงรุก โดยเฉพาะจีน ที่ต้องเข้าไปเจาะรายเมืองมากขึ้นเพราะมีประชากรหนาแน่น อินเดียเน้นการเข้าไปขายสินค้าตลาดบน เพราะมีคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อไม่ต่ำกว่า 350 ล้านคน เป็นต้น
มองปัจจัยแวดล้อมแล้ว ฟันธงได้ว่าครึ่งปีแรก เศรษฐกิจรวมยังเข็นยาก!!! เพราะทั้งปัจจัยเสี่ยงภายใน (ภัยแล้ง) และปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากเศรษฐกิจโลกล้วนควบคุมไม่ได้ อีกทั้งเครื่องมือต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก็ยังไม่สะท้อนผลทางบวกอย่างชัดเจน ความหวังที่เศรษฐกิจจะ “ฟื้นตัว” ในครึ่งปีแรก ยังเหนื่อย! รอไปลุ้นอีกทีไตรมาส 3 ไปแล้ว ที่อาจได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์!
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 – 16 มีนาคม พ.ศ. 2559