2 บิ๊กอสังหาฯเท 8.5 พันล้านผุดโปรเจ็กต์ยักษ์‘สามย่าน มิตรทาวน์’เสร็จปี 63

Cr.ฐานเศรษฐกิจ 31 พฤษภาคม 2559

โกลเด้นแลนด์ร่วมทีซีซี แอสเซ็ทส์ สร้างตำนานสามย่าน ผุดโครงการยักษ์ “สามย่านมิตรทาวน์” คอนเซ็ปต์สมาร์ทมิกซ์ยูส หวังเปิดศักยภาพทำเลพระราม 4 เริ่มก่อสร้างไตรมาส3 นี้ เสร็จปี 2563 ด้านคอลลิเออร์สชี้โครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายยังไม่มาก แม้ราคาขยับกว่า 2.4 แสนบาทต่อตารางเมตร ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า หลังจากประมูลที่ดินแปลงงาม มุมถนนพญาไท ตัดกับพระรามที่ 4 ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขนาดพื้นที่กว่า 13 ไร่ โกลเด้นแลนด์ได้ร่วมทุนกับบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งบริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด โดยโกลเด้นแลนด์ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และทีซีซีฯถือหุ้น 51% ของทุนจดทะเบียน 3พันล้านบาท ทั้งนี้ โกลเด้นแลนด์จะเป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการที่จะพัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อ สามย่าน มิตรทาวน์ เป็นโครงการมิกซ์ยูส ในคอนเซปท์สมาร์ท มิกซ์ยูส มูลค่าโครงการ 8.5 พันล้านบาท

สำหรับโครงการสามย่าน มิตรทาวน์ มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 220,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ส่วนผสม 1. อาคารสำนักงานระบบอัจฉริยะ (Artificial Intelligence Building : AI) สูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 65,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ 2.คอนโดมิเนียมผสมเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ สูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 36,000 ตารางเมตร คิดเป็น 15% ของโครงการ จะเป็น

คอนโดมิเนียมแบบเช่าระยะยาว 554 หน่วย และเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ เช่าระยะสั้น 104 หน่วย และ 3.ศูนย์ทักษะพัฒน์เพิ่มโอกาสการเรียนรู้แห่งแรกในประเทศไทย สูง 6 ชั้น พื้นที่รวม 65,000 ตารางเมตร คิดเป็น 30% ของโครงการ นอกจากนี้ยังมีอาคารจอดรถกว่า 1,700 คัน พื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่รวม 58,000 ตารางเมตร คิดเป็น 25% ของโครงการ เริ่มก่อสร้างไตรมาส 3 ปีนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2563

“ผมจะเปิด NODE พระรามสี่ให้เกิดศักยภาพ วันนี้รถไฟฟ้า MRT ยังไม่ป๊อปปูล่าเท่า BTS แต่คิดว่าถ้าเปิดเดินรถไปถึงย่านเยาวราช ถือว่าเปิดทำเลใหม่ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ผมถือเป็นโอกาส เหมือนตอนที่เราพัฒนาโครงการเอฟวายไอ ที่ซอยไผ่สิงห์โต ก็มีคนสงสัยว่าทำเลใช่หรือไม่ และจะทำค่าเช่าได้เท่าไร ตอนแรกที่เปิดตัวโครงการคิดว่าค่าเช่าจะประมาณ 700 บาทต่อตารางเมตร แต่วันนี้ 800 บาทต่อตารางเมตร และมียอดจองพื้นที่ล่วงหน้าได้กว่า 70% ก่อนตึกเปิดบริการ”

ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย วิเคราะห์ศักยภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์รอบๆสามย่าน ว่า พื้นที่โดยส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเพียงแค่ทางด้านทิศใต้ของถนนพระรามที่ 4 และบริเวณที่เลยถนนบรรทัดทองไปทางตะวันตกที่เป็นที่ดินของเอกชน ดังนั้นการพัฒนาของเอกชนในบริเวณนี้จึงมีไม่มากนัก มีคอนโดมิเนียมเปิดขายตั้งแต่ช่วง 5 – 6 ปีก่อนมาจนถึงปัจจุบันเพียงแค่ 6 โครงการ ได้แก่ วิช แอท สามย่าน, เวอร์ทิค พระราม 4, แอชตัน จุฬาฯ, ไอดีโอ คิว, จามจุรีสแควร์ เรสสิเดนซ์ และ แอลทิจูด สามย่าน-สีลม จำนวนยูนิตรวมประมาณ 3,758 ยูนิต แต่ว่าโครงการส่วนใหญ่ขายหมดหรือว่าเกือบหมดแล้วทั้งสิ้น

โดยราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในทำเลนี้อยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนบาทต่อตารางเมตร ราคาขายเริ่มตั้งแต่ 1.22 แสนบาทต่อตารางเมตรขึ้นไปถึงประมาณ 2.50 แสนบาทต่อตารางเมตร โดยโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจะมีราคาขายค่อนข้างสูงบางโครงการสูงมากกว่า 2 แสนบาทต่อตารางเมตรขึ้นไปถึงมากกว่า 2.4 แสนบาทต่อตารางเมตรแต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ อาจจะเป็นเพราะว่าอยูไม่ไกลจากพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ หรือว่าสยาม อีกทั้งไม่ไกลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในบริเวณนี้ยังมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายไม่มาก ดังนั้นตลาดคอนโดมิเนียมในบริเวณนี้จึงได้รับการตอบรับที่ดี

แม้ว่าสามย่านจะไม่ไกลจากย่านศูนย์กลางธุรกิจหรือว่าสยามที่มีอาคารสำนักงานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ว่าในบริเวณนี้กลับมีอาคารสำนักงานอยู่ไม่กี่อาคารเท่านั้น และเป็นอาคารขนาดเล็ก อาจจะมีอาคารจามจุรีสแควร์เท่านั้นที่เป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่และมีผู้เช่าเกือบเต็ม 100% ค่าเช่าอยู่ที่ประมาณ 750 – 850 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ในขณะที่อาคารสำนักงานขนาดใหญ่อื่นๆ อาจจะอยู่ไกลออกไปบนถนนพระรามที่ 4 หรือถนนสีลม

“บริเวณนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯมีการเรียกคืนพื้นที่บริเวณที่เป็นตลาดสามย่านเดิม และอาคารพาณิชย์โดยรอบเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นตลาดที่มีความทันสมัย และเปิดให้นักลงทุนยื่นเสนอโครงการและผลตอบแทนเข้ามาให้พิจารณา”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน พ.ศ. 255