พลิกโฉมการพัฒนาที่พักอาศัยเพื่อสังคม (Social Housing Reform)

Cr. ฐานเศรษฐกิจ 20 ธันวาคม 2558

6

ที่พักอาศัยถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากร และประเทศ ในมุมหนึ่งกลไกทางตลาดจะเป็นตัวกำหนดระดับอุปสงค์และอุปทานของที่พักอาศัย อย่างไรก็ดีในกลไกดังกล่าวจะมีผู้ที่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อครอบครองที่พักอาศัย หรือ สามารถเช่าที่พักอาศัยที่มีคุณภาพได้

ดังนั้นในประเทศต่างๆจึงได้มีการกำหนดนโยบายด้านที่พักอาศัยเชิงสังคมขึ้นมาและจัดตั้งหน่วยงานในการดำเนินการทางฝั่งภาครัฐ ตัวอย่างในการพัฒนาที่สำเร็จสามารถดูได้จากกรณีของสิงคโปร์ และ ฮ่องกง โดยที่มีการจัดตั้งหน่วยงาน Housing Authority ขึ้นมาทั้งใน 2 กรณีเพื่อดำเนินการพัฒนาที่พักอาศัยทางสังคม

สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดตั้งการเคหะแห่งชาติขึ้นมาเพื่อดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการโครงการเพื่อพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้ต่ำมากว่า 40 ปีโดยที่มีการพัฒนาโครงการต่างๆหลายโครงการทั้งในรูปแบบที่ขายและให้เช่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติกำลังดำเนินการขายและก่อสร้างโครงการ package 1 โดยมีแผนในการพัฒนาบ้านพักในเชิงสังคมกว่าหมื่นยูนิต อย่างไรก็ดียังมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพของการดำเนินการ และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

หากเปรียบเทียบนโยบายการพัฒนาที่พักอาศัยเพื่อสังคมระหว่างประเทศไทย และประเทศอื่นๆเช่นสิงคโปร์ และ ฮ่องกง ที่มีการดำเนินการอย่างสำเร็จมีประเด็นที่แตกต่างกันในหลายด้านที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกคือในด้านการกำหนดคุณภาพของที่พักอาศัยเชิงสังคม โดยที่มิติของคุณภาพที่พักอาศัยคงไม่สามารถให้เทียบเท่าที่พักอาศัยที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ตามกลไกตลาดได้ในทุกมิติ

แต่มิติที่สำคัญที่ทั้งกรณีของสิงคโปร์และฮ่องกงให้ความสำคัญคือการเข้าถึงโครงข่ายการเดินทางโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะเพื่อที่จะให้ผู้พักอาศัยในระดับรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงโครงข่ายคมนาคมโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะได้เพื่อลดต้นทุนในการดำรงชีวิตในกรณีของประเทศไทยการกำหนดตำแหน่งของพื้นที่สำหรับการพัฒนาที่พักอาศัยเชิงสังคมมักจะถูกกำหนดโดยต้นทุนของโครงการและการบริหารงบประมาณ พื้นที่รอบๆสถานีรถไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอนาคตถูกครอบครองและพัฒนาเป็นที่พักอาศัยหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นหลัก

ประเด็นที่ 2 คือการดำเนินการบูรณะเมือง (Urban Renewal) ในกรณีของฮ่องกงได้มีการแยกหน่วยงานออกมาอีกหน่วยงานคือ Urban Renewal Authority (URA) เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการเข้าบูรณะเมือง โดยที่ URA มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่หรืออาคารที่พักอาศัยที่ทรุดโทรมซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและผู้พักอาศัย

โดยที่ URA ต้องการการยินยอมจาก 80% ของผู้พักอาศัยในพื้นที่โครงการเพื่อที่จะสามารถดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ได้ ในกรณีของประเทศไทยเรามีอาคารห้องแถวและอาคารพาณิชย์ต่างๆที่มีสภาพทรุดโทรมอยู่มาก (เช่นกรณีแฟลตดินแดง) การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการบูรณะเมืองจะช่วยยกระดับคุณภาพที่พักอาศัย รูปแบบเมือง และสามารถพัฒนาให้เกิดจำนวนยูนิตที่พักอาศัยให้เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในปัจจุบัน

ประเด็นสุดท้ายคือการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนพร้อมกับการกำหนดแผนการพัฒนาที่พักอาศัยเชิงสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเมือง ทั้งในกรณีของฮ่องกงและสิงคโปร์การกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองและที่พักอาศัยถูกกำหนดในรายละเอียดจากระดับนโยบาย โดยที่ในกรณีฮ่องกงมี Development Bureau เป็นหน่วยงานในระดับกระทรวง โดยทำงานร่วมกับ Transport and Housing Bureau หรือ ในกรณีสิงคโปร์มี Ministry of National Development เป็นหน่วยงานหลักในระดับกระทรวงในการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองและที่พักอาศัยเชิงสังคมการปฏิรูปการขับเคลื่อนในด้านการพัฒนาที่พักอาศัยเชิงสังคมของประเทศไทยคงไม่สามารถดำเนินการได้เพียงแค่การดำเนินการผ่านการเคหะแห่งชาติ หรือการปฏิรูปการดำเนินกิจการของการเคหะเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องปฏิรูปนโยบายภาพรวมเรื่องการพัฒนาที่พักอาศัยเชิงสังคมในระดับชาติเพื่อยกระดับคุณภาพของที่พักอาศัยเชิงสังคม จำเป็นต้องมีการเพิ่มการบูรณาการของการพัฒนาที่พักอาศัยและโครงข่าย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,114 วันที่ 17 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558