สร้างปีหน้า ‘รถไฟฟ้าสีม่วงใต้’

Cr. เดลินิวส์ 19 กุมภาพันธ์ 2559

2

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก) ภายใต้ความรับผิดชอบของ รฟม. เป็นสายที่เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่) ที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือน ส.ค. นี้

ตัวเลข 580.4 กม. กากากบาทตัวแดงกันไว้ ไม่ใช่เลขเด็ดจากสำนักไหน แต่เป็นความยาวของแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม12 สาย ภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) บางสายสร้างไปแล้ว บางสายกำลังก่อสร้าง และกำลังศึกษาออกแบบหาเงินกู้

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก) ภายใต้ความรับผิดชอบของ รฟม. เป็นสายที่เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่) ที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือน ส.ค. นี้มีงบประมาณก่อสร้าง 131,171 ล้านบาท รูปแบบการเดินรถเป็นแบบ HeavyRail (รถไฟฟ้ารางหนัก) มีทั้งใต้ดินและยกระดับ ระยะทาง 23.6 กม.มี 17 สถานี แบ่งเป็น ใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ อีก 7 สถานี

ความคืบหน้าขณะนี้ติดปัญหาพื้นที่เวนคืนสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณราษฎร์บูรณะและเพิ่มเส้นทางไปอีก 5 กม. ให้เชื่อมวงแหวนรอบนอกส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท รวมทั้งต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายปี 59 และเริ่มสร้างได้ในปี 2560 พร้อมเปิดบริการในปี 2563

สำหรับแนวสายทางโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เริ่มจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่บริเวณสถานีเตาปูน เป็นเส้นทางใต้ดินแล้วเบี่ยงเข้าถนนสามเสนผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม) โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน วชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้า เข้าถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์

จากนั้นเปลี่ยนเส้นทางเป็นยกระดับผ่านแยกถนนจอมทองเข้าถนนสุขสวัสดิ์ผ่านแยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร หรือ ทางด่วนขั้นที่1 เข้าราษฎร์บูรณะ ข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณครุใน

หากเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2560 อีกไม่นานเกินรอก็จะได้ใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ในปี 2563