Cr. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 29 ธันวาคม 2558
จากความเปลี่ยนแปลงทางการบริหารภายใต้รัฐบาลพล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ต้องการปฏิรูปประเทศในหลายๆด้าน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับคมนาคมก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเติบโตของประเทศหรือจีดีพีด้วยเพราะเมื่ออสังหาริมทรัพย์เติบโต ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในธุรกิจอื่นๆด้วย การพัฒนาเส้นทางคมนาคมก็เป็นหัวใจและสัญลักษณ์ของการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน “ฐานเศรษฐกิจ”จึงได้รวบรวมข่าวเด่นของปี 2558 มานำเสนอ คือ
1.ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย
สืบเนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่อาศัยกระจัดกระจายอยู่นอกชุมชน ผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า บ้านพักตามโรงงาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดบริการพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้จัดทำแผนการยกระดับความเป็นอยู่ด้านที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน ภายใต้ชื่อ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (2559-2568) โดยให้หน่วยงานในสังกัดอย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ
โละสต๊อกบ้านยั่งยืนทั่วประเทศ
ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างจริงจัง โครงการที่ กคช.เริ่มดำเนินการคือ การนำโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมและโครงการเคหะชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 239 โครงการ รวม 13,396 หน่วย เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยรวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจอง เปิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม – 6 กันยายน 2558 พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน จึงขยายเวลาจองจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2558 และจากข้อมูลล่าสุด (25 พ.ย.58) พบว่า มียอดจองรวม 20,002 หน่วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสิทธิ์และพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อ เบื้องต้นมีผู้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจำนวน 2,411 ราย และช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 กคช.มีแผนที่จะเปิดให้จองโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 และโครงการอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง
หารือเอกชนผุดบ้านผู้มีรายได้น้อย
หลังภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ไม่นาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชิญกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้าร่วมปรึกษาหารือ ถึงความร่วมมือในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยระดับราคา 5-6 แสนบาทต่อหน่วย โดยภาคเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้พาทีมข้าราชการและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2 รายคือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ธนาพัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ลงพื้นที่สำรวจที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ปท.5050 ขนาด 3 ไร่ ริม ถนนพหลโยธิน ติดคลองบางซื่อ ห่างสถานีบีทีเอสสะพานควาย 100 เมตร (ซอยวัดไผ่ตัน) เพื่อนำร่องพัฒนาโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย
2.เทรนด์ใหม่แห่โรดโชว์เจาะนักลงทุนต่างชาติ
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการพึ่งพิงกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้นเหมือนกับในลอนดอนที่มีนักลงทุนจากต่างชาติไปซื้ออสังหาฯ เพื่อลงทุน แต่ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้น โดยมีการนำโครงการไปขายในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เหตุเพราะกลุ่มลูกค้ามีจำนวนจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มไฮเอนด์ ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อเองก็มีความซับซ้อนมากขึ้น เดิมผู้ประกอบการทำการขายแบบธรรมดาคือนำเสนอแบบห้อง แต่ปัจจุบันเริ่มมองเห็นกลุ่มลูกค้าซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรเพิ่มมากขึ้น โดยดูได้จากการใช้เรื่องของอัตราผลตอบแทนการลงทุนมาเป็นจุดขายมากกว่ารูปแบบห้องชุด โดยเฉพาะตลาดไฮเอนด์ที่มีความคึกคักอย่างมากในช่วงต้นปี 2558
การนำโครงการไปขายในต่างประเทศมีผลมาจากตลาดอสังหาฯในประเทศเริ่มชะลอตัว ดังนั้นการโรดโชว์ในต่างประเทศจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ และเริ่มเป็นเทรนด์ใหม่ที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ออกไปโรดโชว์ต่างประเทศ จะเน้นกลุ่มนักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งจะชูจุดขายอัตราการปล่อยเช่าเป็นหลัก ยกเว้นสินค้าที่ราคาไม่สูงมากก็อาจจะขายได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความต้องการของกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก
3.สถานีกลางบางซื่อ TOD พลิกโฉมภาพลักษณ์ ร.ฟ.ท.
การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ในมือมีที่ดินแปลงงามในกรุงเทพฯหลายแปลง ถึงแม้จะยกที่ดินมักกะสันให้กระทรวงการคลังเพื่อแลกกับการล้างหนี้ ก็ยังมีที่ดินย่านพหลโยธิน ซึ่งเป็นแปลงที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน โดย ร.ฟ.ท.วาดภาพจะพัฒนาสถานีกลางบางซื่อขึ้นเป็นสถานีกลาง หรือ Grand Central Station ยิ่งใหญ่กว่าสถานีหัวลำโพง เพราะที่นี่ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางของการเดินทาง นอกจากรถไฟ และรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีสถานีขนส่งหมอชิตย่อย อีกทั้งยังมีทางด่วนซึ่งเป็นทางยกระดับศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก จากฝั่งธนบุรีมาบางซื่อด้วย
โดยแผนแม่บทสถานีกลางบางซื่อ จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับการเดินทางด้วยระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงระบบทางด่วนและโครงข่ายถนนสายหลัก ซึ่งศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่จะทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงจากเมืองที่มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิต จากการเดินทางท่ามกลางวิกฤติจราจร มาสู่การเป็นเมืองที่ผู้เดินทาง หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนเช่นเดียวกับในมหานครชั้นนำทั่วโลก
ซึ่งในปี 2562 จะได้เห็นโฉมใหม่สถานีกลางบางซื่อ มาพร้อมปรากฏการณ์ใหม่ของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ Business Hub โดยรอบบริเวณสถานีกลางแห่งนี้ด้วย ซึ่งมีกลุ่มทุนใหญ่จากธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และการขนส่ง ให้ความสนใจร่วมงานสัมมนาทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ไม่เฉพาะพื้นที่ย่านสถานีกลางบางซื่อเท่านั้น ซึ่งขณะนี้การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขยายออกสู่ย่านจตุจักร และแยกลาดพร้าวแล้วเช่นกัน
4.ร.ฟ.ท. เร่งเข็นโครงการรถไฟทางคู่
จากแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 หรือแอกชันแพลน โครงการรถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตร จัดเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง และเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจ ภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) มีด้วยกัน 6 เส้นทางแต่เปิดให้ประกวดราคาและได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง คือ โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น รวมมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าต้นปี2559 จะส่งมอบพื้นที่ เริ่มงานรื้อถอนสาธารณูปโภค เดินหน้างานก่อสร้างได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป และกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,117 วันที่ 27 – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558