รถไฟไทย-จีน "รถไฟสายการทูต" "รัฐบาลบิ๊กตู่" โหมลงทุนทางคู่แสนล้าน

Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2559

2

กำลังเป็นที่จับตาวาระสุดท้าย"รถไฟไทย-จีน" ภายใต้การขับเคลื่อนของ "รัฐบาลบิ๊กตู่" จะเป็นไปได้ดั่งหวัง หรือจะเป็นได้แค่ "รถไฟสายการทูต" ยังต้องลุ้นกันไปอีกยาว ๆ เมื่อทุกอย่างยังไม่มีท่าทีจะลงเอยในเร็ววัน

ที่สำคัญรูปแบบการลงทุนยังไม่ตกผลึก ถึงที่สุดแล้ว "จีน" จะโอเคหรือเซย์เยสกับสูตรใหม่ที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เขย่าใหม่ ให้จีนลงทุนใน "SPV-บริษัทร่วมทุน" ทั้งโครงการร่วมกันสัดส่วน 60% ไทย 40% เพื่อไม่ให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 5.3 แสนล้านบาท ทั้งสองรัฐบาลต้องแบกความเสี่ยงโครงการร่วมกัน

ทำให้ขณะนี้สถานะโครงการจึงดูอึมครึม จนเริ่มมีกระแสโครงการอาจจะไม่ได้ก่อสร้างในรัฐบาลชุดนี้ หากจีนยังยืนกรานจะไม่ปรับลดค่าก่อสร้าง และไม่ร่วมลงทุนตามที่ไทยเสนอ มีแนวโน้มจะลากการเจรจากันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติ หากไม่ทัน "รัฐบาล คสช." ก็ไปว่ากันต่อรัฐบาลหน้า

เพราะโครงการความร่วมมือ "รถไฟไทย-จีน" ในยุครัฐบาลที่ผ่านมา จาก "ประชาธิปัตย์" มาถึง "เพื่อไทย" ก็ได้แค่เซ็น MOU ร่วมกัน ซึ่ง "รัฐบาลปัจจุบัน" คงมีบทสรุปที่ไม่ต่างกัน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เป็นไปได้รถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด 873 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 5.3 แสนล้านบาท จะยังไม่มีการก่อสร้างในเร็ว ๆ นี้ เพราะจีนยังไม่ตกลงรูปแบบการลงทุน ที่รัฐบาลไทยอยากให้รัฐบาลจีนลงทุน 60% ของทั้งโครงการ และอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องพิเศษจริงๆ

"ทางไทยรอได้ ไม่รีบ หากจีนอยากจะให้เร็วต้องรีบตัดสินใจ เพราะโครงการนี้จีนได้ประโยชน์เต็ม ๆ ทั้งเส้นทางรถไฟเป็นยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากคุนหมิงลงมาทางตอนใต้ของไทย และมีทางขนสินค้าออกทางทะเลเพิ่ม รวมถึงได้ขายเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าด้วย"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลให้ความสำคัญลงทุนรถไฟทางคู่รางขนาด 1 เมตร ระยะเร่งด่วน 6 สายทาง ระยะทาง 905 กม. ลงทุนกว่า 1.29 แสนล้านบาท เป็นลำดับแรกก่อน ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, มาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และนครปฐม-หัวหิน โดยทั้งหมดจะสร้างเสร็จในปี 2561-2563

"ส่วนรถไฟไทย-จีน เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศ ขณะนี้มองว่ายังไม่จำเป็น แต่จะไปยกเลิกคงไม่ได้ เพราะโครงการเป็นความร่วมมือรัฐบาลต่อรัฐบาล เหมือนเป็นสัญญาสุภาพบุรุษที่เจรจากันมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว มาถึงรัฐบาลปัจจุบันได้ปรับความเร็วจากรถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง 160-180 กม./ชม ต้องเจรจากันไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่พอใจ"

ด้าน "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำความก้าวหน้าของโครงการผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า รถไฟราง 1.435 เมตร เป็นรถไฟอนาคต เพื่อจะเตรียมการสู่การใช้รถไฟความเร็วสูง วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะการใช้บริการ ขีดความสามารถของผู้ใช้บริการโดยสารยังไม่พร้อม แต่เตรียมการไว้ก่อน สร้างรางให้สามารถเป็นรถไฟความเร็วสูงได้ในอนาคต ขณะนี้นำรถไฟความเร็วปานกลางมาวิ่งก่อน

"หลายอย่างมีการปรับเปลี่ยน เช่น ราคา สถานี ความยาวของรถไฟ ฉะนั้นความร่วมมือไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย ใช้ขนผู้โดยสารอย่างเดียว เพราะจำเป็น ส่วนช่วงหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย และแก่งคอย-มาบตาพุด จะมีท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมจะใช้ทั้งขนคนและส่งทั้งสินค้า เดิมมีการพัฒนาทั้งหมดตลอดเส้น ตอนนี้ไม่ได้ ดูความพร้อม บางเส้นทางยังไม่สมบูรณ์ มีคนบุกรุกมาก ต้องขยายเส้นทางและเวนคืน"

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถนนและรางต้องทบทวนอีกครั้ง เพราะการลงทุนเป็นช่วง ๆ ใช้เงินมหาศาล ต้องหาเงินมาลงทุนในช่วงแรก ต้องมีการปรับแก้ ไม่ใช่รัฐบาลไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ตราบใดที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา วันนี้ถ้ายังไม่จำเป็นจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ก็ใช้รถความเร็วปานกลาง 100-180 กม./ชม. เร็วกว่าจากปัจจุบันรถไฟวิ่ง 80 กม./ชม. ต้องค่อย ๆ พัฒนาเป็นเส้น ๆ ไปตามหลักความเร่งด่วน ภายในประเทศก็สร้างทางคู่ 1 เมตร

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์