Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 9 กุมภาพันธ์ 2559
รายงาน
เหมือนโปรเจ็กต์ "รถไฟไทย-จีน" ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน พยายามเจรจาหาข้อสรุป ให้ทันตอกเข็ม พ.ค.นี้ ยิ่งเจรจา ยิ่งไม่มีข้อสรุปลงตัว เมื่อ "จีน" ยังไม่รับข้อเสนอไทย
กับสูตรลงทุนที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ สั่ง 2 กระทรวงเศรษฐกิจ"คลัง-คมนาคม" เจรจาให้จีนลงทุนใน "SPV-นิติบุคคลเฉพาะกิจ" สัดส่วน 60% ทั้งก่อสร้าง จัดหาระบบและเดินรถ เพื่อแบ่งเบาภาระไทยในการรับความเสี่ยงโครงการ
ขณะเดียวกัน "จีน" กลับขอพิจารณารายละเอียดเพิ่ม จะลงทุนส่วนไหน เช่น เฉพาะงานก่อสร้างอุโมงค์ สะพาน งานระบบและการเดินรถ เพราะมูลค่าและสัดส่วนลงทุนสูง พร้อมกับยื่นเงื่อนไขไม่น่าจะเป็นไปได้ให้ไทยนำกลับมาคิด เหมือนเป็นการปิดประตูสิ่งที่ไทยกำลังต่อรองไปโดยปริยาย
"จีนชี้แจงหากไทยจะให้ลงทุนทั้งโครงการเหมือนจีนลงทุน 70% ให้กับลาว เพราะมีข้อเสนอพิเศษที่ลาวให้จีน ซึ่งสังคมไทยคงรับไม่ได้ เช่น สิทธิพัฒนาที่ดินสองข้างทาง และประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ เพราะจะมีรายได้เชิงพาณิชย์มาชดเชยการลงทุนก่อสร้างโครงการ" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
"ส่วน SPV จีนขอให้ไทยส่งรูปแบบจัดตั้งให้พิจารณา 2 สัปดาห์ ซึ่งคลังต้องคิดรูปแบบจะให้ SPV ลงทุนทั้งโครงการหรือรับลงทุนส่วนไหน เพราะการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทั้งโครงการ จะใช้เวลาคืนทุนนานและไม่สามารถคืนทุนได้ทั้งโครงการ รัฐจะต้องชดเชยบางส่วนให้เอกชน ดังนั้นสัดส่วนลงทุนจะไม่มีความหมายเลย หากไม่รู้ว่า SPV จะลงทุนวงเงินเท่าไหร่" แหล่งข่าวย้ำ
ทั้งนี้ จากท่าทีจีนยังอิดออด "ไทย" เปลี่ยนโจทย์ใหม่ ขอปรับขนาดโครงการช่วง "นครราชสีมา-หนองคาย" จากทางคู่เป็นทางเดี่ยว เน้นขนส่งผู้โดยสาร ส่วนการขนส่งสินค้าจากหนองคายมายังท่าเรือมาบตาพุด หรือแหลมฉบังจะใช้รถไฟทางคู่สายอีสานที่ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" กำลังสร้างและเปิดประมูลแทน จากฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย, มาบกะเบา-จิระและจิระ-ขอนแก่น ส่วนช่วง "แก่งคอย-มาบตาพุด" จะยกเลิก เพราะปริมาณขนสินค้ายังไม่มาก มีพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรนและรถไฟไทย-ญี่ปุ่น
เพื่อนำไปสู่การปลดเดดล็อกมูลค่าลงทุนโครงการที่สูงกว่า5 แสนล้านบาท หากตัดช่วง "แก่งคอย-มาบตาพุด" ก็ลดค่าก่อสร้างไปร่วมแสนล้านบาท ขณะเดียวกันเพื่อหาทางออกให้โครงการได้คิกออฟทันรัฐบาลชุดนี้
"เป็นไปได้สูงจะสร้างราง 1.435 เมตรจากกรุงเทพฯ-หนองคาย เพราะมีผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิม ซึ่งก็ตรงกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีนจะเชื่อมเหนือลงใต้อยู่แล้ว โดยจะสร้างกรุงเทพฯ-โคราชก่อน เพราะมีแบบแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งไทยและจีนมีความเห็นตรงกัน จะเร่งช่วงนี้ก่อน กำลังตรวจสอบค่าก่อสร้างเพื่อจะตั้ง SPV ร่วมกัน คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 1.8 แสนล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามแผนเดิมทางจีนเสนอก่อสร้าง 4 ช่วง 1.กรุงเทพฯ-แก่งคอย 2.แก่งคอย-มาบตาพุด 3.แก่งคอย-นครราชสีมา และ 4.นครราชสีมา-หนองคาย ล่าสุดผลหารือร่วมกันจะเริ่มสร้างกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมาก่อน ส่วนช่วงที่เหลือจะพิจารณารายละเอียดเพิ่มเพื่อลดต้นทุนก่อสร้างโครงการ
"ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด จะขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการสินค้า หากมีความต้องการมากถึงจะเริ่มสร้าง ที่ยังไม่สร้างทันทีเพราะ มีแนวทับซ้อนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง รถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย ที่จะลงไปแหลมฉบัง ก็มีประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าได้ ส่วนโคราช-หนองคาย ยังทำรายงานอีไอเอไม่แล้วเสร็จ" นายอาคมกล่าวและว่า
อีกทั้งจีนเสนอช่วงนครราชสีมา-หนองคายสร้างราง 1.435 เมตรเป็นรางเดี่ยว จากเดิมเป็นทางคู่ รอดูปริมาณความต้องการ และปรับค่าใช้จ่ายลงทุนในส่วนที่ยังไม่จำเป็น ให้บริษัทที่ปรึกษาตรวจสอบผลการศึกษาและออกแบบของจีน คำนวณค่าก่อสร้าง (Over Design) รวมถึงหันมาใช้วัสดุในประเทศตามนโยบายรัฐบาลด้วย หากปรับลดส่วนนี้ได้ จะสามารถคิดมูลค่าโครงการที่แน่นอนได้ คาดว่าจะสามารถปรับลดค่าก่อสร้างลงได้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
เป็นสถานะรถไฟไทย-จีน ณ ปัจจุบัน รอฟังคำตอบชัด ๆ กันอีกทีหลังตรุษจีน จากผลประชุมคณะกรรมร่วมครั้งที่ 10 ที่ปักกิ่งปลาย ก.พ.นี้ ที่สุดท้ายโครงการจะเดินหน้าต่อทันเวลาเดดไลน์ หรือดีเลย์กันยกแผง