Brexit เอฟเฟ็กต์! กองทุนอสังหา "ลอนดอน" ระส่ำ นักลงทุนแห่เทขาย...ลามกระทบแบงก์

Cr.ประชาชาติธุรกิจ 10 กรกฎาคม 2559

ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า "Brexit" ได้ส่งผลกระทบต่อภาคตลาดการเงินของอังกฤษอย่างหนักหน่วง เพราะการแสวงหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยของนักลงทุน ไม่เพียงแต่กดให้สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

สัปดาห์ที่ผ่านมากองทุนอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 6 แห่ง ได้แก่ เฮนเดอร์สัน (Henderson), ธรีนีเดิลส์ โคลัมเบีย (Threeneedles Columbia), แคนาดา ไลฟ์ (Canada Life), สแตนดาร์ด ไลฟ์ (Standard Life), อวีวา อินเวสเตอร์ส (Aviva Investors) และพรูเดนเชียล เอ็มแอนด์จี (Prudential"s M&G) ได้ประกาศยุติการดำเนินการเป็นการชั่วคราว หลังนักลงทุนทยอยขายกองทุนออกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีกหนึ่งกองทุนอย่าง "อเบอร์ดีน แอสเซต แมเนจเมนต์" (Aberdeen Asset Management) ระบุว่าขอหยุดให้บริการเป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาพิจารณาผลประกอบการ

การที่นักลงทุนทยอยถอนเงินออก ส่งผลให้กองทุนอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ขาดสภาพคล่อง โดยมูลค่าสินทรัพย์ที่ถูกแช่แข็งไว้โดยกองทุนเหล่านี้อยู่ที่ราว 15,000 ล้านปอนด์ จากทั้งหมดราว 24,500 ล้านปอนด์

ด้าน "อวีวา อินเวสเตอร์ส" ระบุเหตุผลประกอบการหยุดดำเนินงานว่า "ขาดสภาพคล่องกะทันหัน" ขณะที่พรูเดนเชียล เอ็มแอนด์จีกล่าวว่า "การขายกองทุนเกิดขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น" ยิ่งส่งผลถึงความกังวลต่อผลกระทบจาก Brexit ต่อแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง โดย นายจอห์น กีฟ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประเมินว่า การลงทุนจะลดลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักกับตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (อาคารสำนักงาน, พื้นที่ค้าปลีก) และการบริโภคของลูกค้ารายย่อย ซึ่งอาจนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 0% หรือต่ำกว่านั้น

นักวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในยูเค มีแนวโน้มมูลค่าลดลงถึงราว 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ยิ่งกระทบความกังวลว่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์อาจต้องเทขายอสังหาริมทรัพย์ในมือในราคาที่ถูกลงไปอีกเพื่อพยุงสภาพคล่องในมือ ก่อนที่จะถึงจุดให้ต้องบังคับขายโดยไม่เป็นประโยชน์ (Fire Sale) โดยหากใครยังจำได้เมื่อช่วงปี 2550-2551 วิกฤตการเงินโลกได้ส่งผลกระทบในแบบเดียวกันนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างต้องยุติการให้ลูกค้าถอนเงิน ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนตกลงกว่า 40%

เพราะนอกจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอังกฤษที่จะส่งผลต่อความต้องการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่หลายฝ่ายยังกังวลว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ จะย้ายสำนักงานออกจากลอนดอนด้วย

ผลกระทบนี้ยังส่งผลไปถึงสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อยู่ในมือ เช่น ธนาคารแห่งสกอตแลนด์ (The Royal Bank of Scotland-RBS) ที่รับจำนองสินทรัพย์

ดังกล่าวเป็นมูลค่า 19,000 ล้านปอนด์ และธนาคารลอยดส์ (Lloyds) 13,000 ล้านปอนด์ ที่นักลงทุนเลือกเทขายหุ้นใน 2 ธนาคารดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในยูเค ไม่เพียงกระทบแต่กองทุนฝั่งยุโรปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบมาถึงกองทุนและนักลงทุนในฝั่งเอเชียไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษด้วย โดยช่วงที่ผ่านมา หุ้นในบริษัทต้าเหลียน วันดา คอมเมอร์เชียล พร็อพเพอร์ตีส์ คอมปะนี (Dalian Wanda Commercial Properties Company) ยักษ์อสังหาฯของจีนซึ่งไปลงทุนในย่านไนน์เอล์มส (Nine Elms) ของลอนดอน ราคาหุ้นตกลงถึง 7.2% เช่นเดียวกับบริษัทเอสพี เซเตีย เบอร์ฮัด ของมาเลเซีย หุ้นตกลง 9.5% โดยผู้ที่เผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นมากที่สุดคือบริษัทไชน่า เวงเคอ (China Vanke) ที่หุ้นตกลงถึง 20% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา นักลงทุนจากฝั่งเอเชียเทเม็ดเงินกว่า 10,700 ล้านปอนด์ลงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหราชอาณาจักร คิดเป็นกว่า 12% ของการลงทุนทั้งหมด โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นทั้งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และลูกค้าหลักจากสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาไม่อาจลดทอนกำลังใจของนักลงทุน โดย บลูมเบิร์กรายงานว่า นักลงทุนบางคน เช่น นายกั๋ว กวงเชง ประธานบริษัทโฟซัน กรุ๊ป (Fosun Group) ของจีนที่ระบุว่า บริษัทของตนยังเตรียมมองหาโอกาสลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ทั้งในยุโรป โดยมียูเคเป็นหลัก แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอน ขณะที่นายเกวก เหลง เบง ประธานบริษัทซิตี้ ดีเวลอปเมนต์ส (City Develop-ments) บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 จากสิงคโปร์ ระบุว่ายังคงเดินหน้าลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลอนดอนอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะกว้านซื้อในช่วงที่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เทขายสินทรัพย์ในช่วง Fire Sale

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของยูเค นายจอห์น คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE เตือนว่า ยูเคอาจเจอกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ลำบากขึ้น พร้อมกล่าวถึงแนวโน้มในการปรับนโยบายด้านการเงิน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า BoE อาจดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการลดดอกเบี้ย หรือทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ขณะที่ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ YouGov และ ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research - CEBR) ระบุว่า ผู้บริหารภาคธุรกิจส่วนใหญ่มองสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของยูเคในเชิงลบมากขึ้นหลังผลประชามติออกมาเป็น Brexit นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าภาคการก่อสร้าง และภาคบริการเริ่มแสดงให้เห็นเทรนด์ในการชะลอตัวบ้างแล้ว