จากที่ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ ต่างเปิดโครงการที่อยู่อาศัยในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมา โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมจัดเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง โดยภาพรวมประเมินว่ามีการเปิดโครงการตลอดแนวสูงกว่า 3 หมื่นหน่วย แต่ที่ผ่านมา อัตราการดูดซับของตลาดมีค่อนข้างสูง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่มีปั้ญหา ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูง ซึ่งต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผอ.ฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ให้ความเห็นว่าอัตราการดูดซับของตลาดได้เริ่มแผ่วลง ในปี 2556 อัตราการดูดซับกำลังซื้ออยู่ที่ 50-60% ขณะที่ปี 2557 เหลือเพียง 37% ส่งผลให้มีปริมาณสินค้าคงเหลือ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่น อัตราการขายจึงเริ่มชะลอตัว
สำหรับสถานีอยู่ในแนวสายสีม่วงที่มีโครงการคอนโดฯมากที่สุดได้แก่ สถานีแยกติวานนท์ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีแยกนนทบุรี1 โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีโครงการคอนโดฯก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 3 สถานีรวมกันประมาณ 1.47 หมื่นยูนิต เนื่องจากทั้ง 3 สถานีอยู่ใกล้แหล่งชุมชน แหล่งงาน และการคมนาคมสะดวก
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพพรวมตลาดแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงปี 2557 มีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก อัตราการขายในปีที่ผ่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายคอนโดฯใหม่สูงกว่าเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะเปิดโครงการใหม่จึงต้องศึกษาตลาดให้ดี ตอนนี้เรียกว่าที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพื่อขยายอัตราการเจริญเติบโตสู่กรุงเทพรอบนอก
ทางด้านประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน นายศราวุธ จารุจินดา กล่าวถึงการอนุมัติสินเชื่อผู้ประกอบการว่า ธนาคารให้การสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการที่สนใจเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ ทำเลที่ตั้งโครงการ ความโดดเด่นของโครงการ และประสบการณ์ของผู้ขอสินเชื่อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมียอดจอง 30-40% ของจำนวนยูนิต เพื่อนำมาใช้ร่วมในการพิจารณาสินเชื่อด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คือ ทำเลและประสบการณ์ หากผู้ประกอบการณ์เลือกทำเลไม่ดีและไม่มีประสบการณ์ การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำเลมีศักยภาพแต่โครงการไม่มีความโดดเด่น ทางธนาคารก็มีบริการให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าได้ตรงความต้องการตลาด
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,041 วันที่ 5-8 เมษายน 2558