ดีเวลอปเปอร์ลังเลโครงการช่วยชาติ ชี้การเคหะฯชวนร่วมลงทุนทำบ้านคนจนมีหลักการที่ดี แต่มีเงื่อนไขต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ-ห่วงเรื่องความโปร่งใส แนะตั้งบริษัทใหม่ป้องกันนักการเมืองล้วงลูก "LPN-ศุภาลัย" แบ่งรับแบ่งสู้
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจความคิดเห็นดีเวลอปเปอร์หลายราย กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยราคาไม่เกิน 7 แสนบาท/ยูนิต แนวทางคือให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมลงทุนกับเอกชน หรือรับซื้อโครงการที่เอกชนมีสต๊อกเหลือขาย พบว่าภาคเอกชนเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีหลักการดี แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
หวั่นปัญหาความโปร่งใส
แหล่งข่าวผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ข้อกังวลกรณีรัฐบาลมีนโยบายให้ กคช.ร่วมทุนกับภาคเอกชน ปัญหาหลักคือเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการ เนื่องจากในอดีต กคช.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกนักการเมืองแทรกแซงการดำเนินงาน ส่งผลเป็นภาระหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท จึงมองว่าการลงทุนร่วมกับ กคช.จึงเป็นความเสี่ยงมากกว่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯต้องใช้เวลานานหลายปี ในอนาคตถ้ามีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศนโยบายนี้จะเปลี่ยนหรือไม่
ทั้งนี้ กลุ่มที่คาดว่าจะสนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ กคช. น่าจะเป็นดีเวลอปเปอร์รายกลางและเล็ก เพราะจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ อาทิ มีโอกาสได้รับเงินทุนหมุนเวียนเข้ามาเสริมสภาพคล่องในกิจการ ในขณะที่ผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องร่วมมือกับ กคช. เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความแตกต่างชัดเจน ส่วนใหญ่พัฒนาที่อยู่อาศัยราคาเกิน 1 ล้านบาท
ชี้โครงการขายไม่ดี-เสี่ยงสูง
นายโอภาสกล่าวว่า แนวคิดการนำโครงการที่ทำยอดขายต่ำกว่าเป้ามาร่วมเสนอขายให้ผู้มีรายได้น้อยนั้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่แทบเป็นไปไม่ได้เลยเพราะต้องเป็นโครงการที่ยังไม่มีการจองทุกยูนิต มิฉะนั้น อาจมีปัญหาขัดแย้งกับลูกบ้านที่จองซื้อไว้แล้ว และบริษัทขนาดใหญ่เองมีสายป่านธุรกิจยาวพอที่จะทยอยขายโครงการได้ ไม่ต้องเร่งตัดขายในราคาถูก
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัยกล่าวว่า รัฐไม่ควรรับโครงการของเอกชนที่มียอดขายต่ำกว่าเป้าหมายจำหน่ายให้ผู้มีรายได้น้อย เพราะหากโครงการนั้นมีปัญหาการขายมักจะเป็นผลจากจุดด้อยบางอย่างของโครงการ เช่น ทำเล การก่อสร้าง ดีไซน์แบบบ้านไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้น แม้จะลดราคาต่ำแล้วก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่มีผู้ซื้อ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444629835
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 13 ตุลาคม 2558