ภาษีบ้านและที่ดินใหม่ใช้ได้ยกเลิกได้

tax

หลักการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในปัจจุบัน หมายถึงภาษีที่เก็บจากโรงเรือนที่ให้เช่า ที่ประกอบกิจการค้า และให้ผู้อื่นอยู่อาศัย ซึ่งประเทศที่เสียนั้นตั้งแต่บ้าน ตึกแถว ร้านค้าและอื่นๆ รวมไปจนถึงที่ดินที่โรงเรือนต่างๆ สร้างขึ้นมา ทั้งนี้สิ่งปลูกสร้างนั้นนับรวมประเภทท่าเรือ สะพาน คลังน้ำมัน คานเรือ ฯลฯ ด้วย ยกเว้นพระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน ทรัพย์สินของรัฐบาลเพื่อกิจการของรัฐ ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะโรงเรียนสาธารณะ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ปิดไว้โดยเจ้าของมิได้อยู่เอง หรือให้ผู้อื่นนอกจากให้คนเฝ้าดูแล รวมถึงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่มิได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือประกอบการประเภทอื่นเพื่อหารายได้ เป็นต้น ยังมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนมกราคม 2535 ให้ยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วย

จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีตามหลักกฎหมายปัจจุบัน หมายถึงต้องเป็นโรงเรือนหรือที่ดินที่มุ่งหารายได้เป็นสำคัญ ถ้าไม่หารายได้ก็ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และภาษีที่ดินจัดเก็บตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายที่ใช้กันอยู่ออกจะล้าหลังมาก ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงต้องยกร่างพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินขึ้นมาใหม่ เพื่อเหมาะสมกับภาวะปัจจุบันมากกว่าและลดการซ้ำซ้อนด้วย เช่น เสียภาษีบำรุงท้องที่ไปแล้วก็ยังต้องเสียภาษีจากการมีรายได้จากการให้เช่าประกอบธุรกิจหรือให้เช่าพักอาศัยด้วย และอัตราภาษีก็สูงเกินไป เพราะเก็บภาษีปีละ 12.5% ของค่าเช่ารายปี

ด้านภาษีบำรุงท้องที่ คิดจากฐานภาษี คือ ราคากลางที่ดินซึ่งจะถูกกำหนดทุกๆ 4 ปี มีอัตราภาษีหลายอัตราขึ้นอยู่กับ ราคากลางที่ประเมินโดยแบ่งราคากลางออกเป็น 34 ชั้นจากชั้นราคาไร่ละ 0-200 บาท คิดภาษีไร่ละ 0.5 บาทจนถึงชั้นสุดท้ายที่ราคามากกว่า 30,000 บาทต่อไร่คิดภาษีไร่ละ 70 บาทและเพิ่มขึ้น 25 บาททุก ๆ 10,000 บาทต่อไร่

ตามร่างพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฉบับใหม่ ปรับปรุงให้มี 4 ประเทศ คือ ภาษีเพื่อที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.2% ของราคาประเมิน ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยจัดเก็บ 0.3 % ของราคาประเมิน ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมจัดเก็บ 1.0% ของราคาประเมิน และภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บโดยแบ่งเป็น 1-3 ปีแรกจัดเก็บ 1.0% ช่วง 4-6 ปีต่อมาจัดเก็บ 2% และตั้งแต่ปีที่ 7 ขึ้นไปจัดเก็บ 3%

ทั้งนี้ 3 ประเภทแรกจะจัดเก็บตามขั้นบันได ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาทแรก จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในอัตรา 0.01% หรือปีละ 200 บาท หากมูลค่าถึง 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บในอัตรา 0.1% หรือประมาณปีละ 56,300 บาท ภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาทเสียภาษีอัตรา 0.03 % หรือปีละ 600 บาท ไปจนถึงบ้านหลังละ 100 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 0.2 % หรือเสียภาษีปีละ 163,000 บาท ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อการอุตสาหกรรมมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาทเสียภาษีในอัตรา 0.1% หรือเสียภาษีปีละ 2,000 บาท ไปจนถึงมูลค่า 1,000 บาทขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 0.6 % หรือคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายปีละ 28 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่า 3 ปีแรกที่ใช้กฎหมายใหม่จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 82,000 ล้านบาท

เรื่องปรับปรุงภาษีใหม่ดังกล่าวนี้ก็ยังไม่แน่ชัดหลายประเด็น อาทิ ทรัพย์สินส่วนกลางในบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ประเภทถนนในหมู่บ้าน สระน้ำ บึง ต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาที่ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ ซึ่งข่าวเดิมว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ สำหรับผมแล้วมองว่าการคิดจะจัดเก็บนั้นถูกต้องแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอัตราเหมาะสมหรือไม่ และเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งหน้าและใช้การยกเลิกภาษีนี้ เชื่อว่าผู้นั้นจะชนะการเลือกตั้งครับ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/10/13/13602
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3095 วันที่ 11 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558