ซื้อที่ไร่ละ 2.4 แสน ลุยเขตศก.พิเศษนราธิวาส ดูดคนพื้นที่-มาเลเซียลงทุน

Cr. ฐานเศรษฐกิจ 7 มีนาคม 2559

1

การวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นที่ดินของเอกชนเนื้อที่ 2.2พันไร่ ที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ และตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส ให้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส แม้จะเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อสถานการณ์รุนแรงของ”คนเห็นต่าง” แต่แปลงที่ดินที่ได้รับคัดเลือกทั้งทางจังหวัดและคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย(มท.) ต่างได้รับเสียงสนับสนุนว่า
1.ที่ดินสวยผืนใหญ่ติดต่อกัน
2.ทำเลมีศักยภาพสูง
3.ห่างไกลอันตราย
4.มีระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงแปลงที่ดินติด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 สายคลองแงะ-จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก (เขตแดนไทย/ มาเลเซีย) หรือที่เรียกกันว่า ถนนเพชรเกษมสายปัตตานี-นราธิวาส ซึ่งเป็นเส้นทางสายสำคัญของการขนส่งสินค้าและการเดินทางเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน
5. มีไฟฟ้า-ประปาส่วนภูมิภาคเข้าถึง และ6 ไม่มีปัญหาบุกรุก

แต่รัฐจะต้องควักกระเป๋าซื้อที่ดิน โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ทุบโต๊ะเปรี้ยงว่ามอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เป็นหน่วยงานซื้อที่ดิน พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นหัวหอกลงพื้นที่ศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส โดยราคาที่ดิน ตกไร่ละ 2.4 แสนบาท ซึ่งทางผู้ว่าราชการ จังหวัดนราธิวาสย้ำว่าเดินตามนโยบายเดิมของนายณัฐพงษ์ ศิริธนะอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดว่าเป็นสัญญาใจกับเอกชนในฐานะเจ้าของแปลงที่ดิน ที่จะยืนราคาเดิมไม่ปรับขยับขึ้นแต่อย่างใด แม้จะทิ้งช่วงการพัฒนาออกไปหรือแม้ว่าพื้นที่โดยรอบจะขยับขึ้นหลายเท่า แต่ที่ดินแปลงนี้ก็จะยืนราคาเดิมเช่นนี้ต่อไป

2

ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หากเทียบกับการนำที่ดินรัฐมาพัฒนา มักพบกับปัญหา โดยเสียงสะท้อนจากคนพื้นที่ ที่ระบุว่าส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นป่าพุที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมาถมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังติดปัญหาบุกรุกและขัดขวางการเข้าพื้นที่ของนักอนุรักษ์อาจประสบปัญหาไม่ต่างจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก

ขณะที่ความเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญกับที่ดินแปลงนี้เรียกว่าสุดสะดวก นั่นคือ ทำเลห่างจากท่าอากาศยานนราธิวาส โดยใช้เส้นทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ประมาณ 20กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ประมาณ 10กิโลเมตร ห่างจากท่าเทียบเรือนราธิวาสประมาณ8กิโลเมตร ห่างจากสถานีรถไฟตันหยงมัส 25กิโลเมตร ห่างจากด่านตากใบ 40กิโลเมตร ห่างจากด่านบูเก๊ะตา 95 กิโลเมตร

ส่วนการลงทุนจะเน้นนักลงทุนในท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะภาพของพื้นที่นราธิวาส คือความเสี่ยงต่อสถานการณ์รุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนต่างถิ่นโดยเฉพาะจากส่วนกลางยากที่จะขยับลงไป ส่วนนักลงทุนต่างชาติหากจะมีเข้าไปลงทุน มั่นใจว่าจะเป็นนักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกันนั่นเอง ธุรกิจที่กนอ.และนักลงทุนพื้นที่กำหนดจะเป็นอุตสาหกรรมจากยางเป็นหลักและอาหารฮาลาล

แม้ภาพของจังหวัดนราธิวาสจะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อสถานการณ์รุนแรง แต่หากนักลงทุนในพื้นที่”เข้มแข็ง”เชื่อว่าไฟใต้ที่ลุกโชนน่าจะค่อยๆมอดลงได้ในไม่ช้า!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,137 วันที่ 6 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2559