Cr. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 19 ธันวาคม 2558
ค่อนข้างชัดเจน "สถานีเชียงรากน้อย" จะเป็นจุดเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. หลังจากช่วง "กรุงเทพฯ-บ้านภาชี" มีแผนก่อสร้างทับซ้อนหลายโครงการ ทั้งรถไฟสีแดง ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ รถไฟความเร็วสูง ที่สำคัญต้องการปรับแนวหนีท่อก๊าซ ปตท. กีดขวางอยู่ร่วม 40 กม.ช่วงรังสิต-ภาชี อีกด้วย
ว่ากันว่าเป็นการเปิดทางให้รถไฟไทย-ญี่ปุ่นวางรางระบบแบบเดียวกับรถไฟหัวกระสุนชินคันเซนอันโด่งดังจากสถานีกลางบางซื่อไปถึงเชียงใหม่672กม. หลังญี่ปุ่นยืนกระต่ายขาเดียวจะไม่ใช้ระบบรางร่วมกับใคร
ล่าสุด ดีเดย์ 19 ธ.ค.นี้ รัฐบาล "ไทย-จีน" เตรียมจัดพิธีปักธงเริ่มต้นโครงการ แสดงสัญลักษณ์ 2 รัฐบาลที่ร่วมมือกันพัฒนาโครงการมาตลอด 1 ปีเต็มนับจากเซ็น MOU เมื่อ 19 ธ.ค.2557 แน่นอนว่าภายในงานมีการจัดนิทรรศการเต็มรูปแบบอีกด้วย
สำหรับ "สถานีเชียงรากน้อย" ปัจจุบันทาง "ร.ฟ.ท-การรถไฟแห่งประเทศไทย" ใช้เป็นสถานีหยุดรถโดยสารของรถไฟชานเมืองเป็นหลัก มีปริมาณผู้ใช้บริการต่อวันไม่มาก ตั้งอยู่ห่างกรุงเทพฯ 30 กม. มีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างเล็ก แต่มีที่ดินว่างเปล่าฝั่งตรงข้ามสถานี 200 ไร่ สามารถนำมาพัฒนาเป็นสถานีรองรับรถไฟไทย-จีน โดยต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม 800 ไร่ เพื่อขยายให้เป็นแปลงใหญ่ขนาด 1,000 ไร่
ในอนาคต "สถานีเชียงรากน้อย" จะเป็นสถานีกลางบางซื่อ 2 (แกรนด์สเตชั่น) นอกจากสร้างสถานีใหม่แล้ว ยังออกแบบเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) และเป็นชุมทางรถไฟไทย-จีน รถไฟราง 1 เมตร กับราง 1.435 เมตรที่จะสร้างในอนาคต รวมถึงรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน
ส่วนแนวเวนคืนโครงการจากเชียงรากน้อย-โคราช คาดว่าเวนคืนที่ดิน 2,500-3,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สร้างสถานี ออกแบบมี 8 สถานี ได้แก่ สถานีเชียงรากน้อย ชุมทางบ้านภาชี สระบุรี แก่งคอย ปางอโศก ปากช่อง โคกสะอาด และโคราช รวม 232.5 กม.