ครม.ไฟเขียวสิทธิประโยชน์ซูเปอร์คลัสเตอร์เพียบ ประเคนยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ลดหย่อนกึ่งหนึ่ง อีก 5 ปี เปิดช่องกิจการสำคัญสูงคลังสามารถยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดยาวถึง15 ปี พร้อมให้ถิ่นที่อยู่ถาวรผู้เชี่ยวชาญ ปลดล็อกครั้งแรกให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการออกไปโรดโชว์ในการชักจูงนักลงทุนในเร็วๆนี้ ด้านเอกชนตอบรับเชื่อดึงดูดนักลงทุนได้ ขณะที่กนอ.เดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้างจุฬาฯศึกษาออกแบบวางผังแบ่งโซนให้เอกชนเช่าพื้นที่
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในด้านอุตสาหกรรม เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศญี่ปุ่น ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมซูเปอร์คลัสเตอร์ 4 กลุ่ม สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 2.เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ4.ดิจิตอล เป็นกลุ่มนำร่อง และเพิ่มเติมอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารที่ใช้นวัตกรรม และอุตสาหกรรมการแพทย์และการรักษาพยาบาล โดยครอบคลุมในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วยพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และภูเก็ต
ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทุนในกิจการเป้าหมายและในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีและลดหย่อนกึ่งหนึ่งต่ออีก 5 ปี, สำหรับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง กระทรวงการคลังจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10-15 ปี, ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร, ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวรแก่ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ทำงานในพื้นที่ที่กำหนด, อนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดเตรียมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กนอ.เตรียมลงนามสัญญาเช่าที่ดินที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ เพื่อลงทุนตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม 3 พื้นที่นำร่องระยะแรกได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และอำเภอสะเดาจังหวัดสงขลา ภายในเดือนตุลาคม 2558 เป็นระยะเวลา 50 ปี หลังประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้จะเข้าพื้นที่พัฒนาได้
อย่างไรก็ดีระหว่างที่รอกรมธนารักษ์และจังหวัดเคลียร์พื้นที่ ย้ายประชาชนที่บุกรุก และจ่ายค่าชดเชยเยียวยา กนอ. จะต้องเร่งทำที่ดินดิบให้เป็นที่ดินสุก เพื่อประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนติดต่อขอเช่าพื้นที่ ด้วยการจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงเงิน 5 ล้านบาท เพื่อสำรวจพื้นที่ศึกษาออกแบบวางผัง ซึ่งจะแบ่งแปลงเป็นโซนพัฒนา รวมทั้งการจัดวางระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ บนที่ดินเช่าตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างและเซ็นสัญญาโดยใช้เวลาศึกษา 120 วันนับจากเดือนกันยายน 2558 เป็นต้นไป (อ่านประกอบ ต่างชาติช็อปที่ดินเขตศก. หน้า 33 )
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/09/24/11894
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3090 วันที่ 24-26 กันยายน พ.ศ. 2558