20 ส.ค.เปิดด่วนใหม่ "หมอชิต-ตลิ่งชัน" ลอตต่อไปขยาย "พระราม 3-วงแหวนฯ"

Cr.ประชาชาติธุรกิจ 26 มิถุนายน 2559

หลังสปีดมาตั้งแต่ ธ.ค. 2555 ล่าสุด "BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ" ผู้รับสัมปทานเคาะวันที่ 20 ส.ค.นี้ เปิดใช้ทางด่วนสายใหม่ "ศรีรัช-วงแหวนตะวันตก" ระยะทาง 16.7 กม. ที่ใช้เงินลงทุน 32,816 ล้านบาท

"ณรงค์ เขียดเดช" ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้า 99% จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ก.ค.จากนั้นให้ประชาชนทดลองใช้ 5-7 วันก่อนเปิดใช้ทางการวันที่ 20 ส.ค.นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม ธ.ค. 2559 ประมาณ 4 เดือน ส่วนค่าผ่านทางเก็บแบบเหมาจ่าย รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 80 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 115 บาท และปรับค่าผ่านทาง 15 บาททุก 5 ปี

"เป็นทางด่วนสายแรกเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำกรุงเทพฯกับธนบุรี จะช่วยให้การเดินทางสะดวกและแก้รถติดได้ คาดว่าจะมีผู้ใช้ทางในวันแรก 9.7 หมื่นคันถึง 1 แสนคันต่อวัน ส่วนรายได้ค่าผ่านทาง กทพ.จะได้รับส่วนแบ่ง 70% ส่วนที่เกิน เมื่อผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 13.5% และ 50% เมื่อผลตอบแทนอยู่ที่ 15.5%"

"พเยาว์ มริตตนะพร" กรรมการผู้จัดการ บมจ.บีอีเอ็ม กล่าวว่า ทางด่วนสายนี้มีทางขึ้น-ลง 8 แห่ง จะรองรับประชาชนจากวงแหวน ราชพฤกษ์ บรมราชชนนี จรัญสนิทวงศ์ ประชาราษฎร์สาย 1 และบางซื่อ จะใช้เวลาเดินทาง 30 นาที และเร็ว ๆ นี้บริษัทจะสร้างทางเชื่อมกับทางด่วนศรีรัชเพิ่ม เพื่อให้ผู้ใช้ทางไปยังทางด่วนแจ้งวัฒนะได้สะดวกขึ้น จากเดิมต้องลงด้านล่าง

ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทอนุมัติแล้ว ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาทใช้เวลาก่อสร้าง 14 เดือน จะเริ่มงานได้หลัง กทพ.ส่งมอบพื้นที่ให้ อีกทั้งอนาคตจะร่วมกับ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือโทลล์เวย์ สร้างทางเชื่อมต่อกันเพื่อป้อนคนเข้าสู่ระบบทั้ง 2 โครงข่าย จะเป็นการลงทุนคนละ 50:50 แต่เป็นความร่วมมือ 4 ฝ่าย มีกรมทางหลวง (ทล.) กทพ. บีอีเอ็มและโทลล์เวย์

"ทางเชื่อมเสร็จจะทำให้คนเดินทางจากฝั่งธนที่จะไปแจ้งวัฒนะก็ทะลุเข้าระบบได้เลยจากบางซื่อ-ประชาชื่น จากเดิมมีทางรับคนเข้าเมืองและรับคนไปฝั่งธนฯ" นางพเยาว์กล่าวย้ำ

ขณะที่ "กทพ." หลังเร่งทางด่วนใหม่เปิดใช้ตามเป้า ล่าสุดจะลงทุน 2.7-3 หมื่นล้านบาท สร้างทางด่วนใหม่อีก 1 สาย ต่อขยายจากพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ระยะทาง 17 กม. ลดปัญหาจราจรบนทางด่วนบูรพาวิถี, สะพานพระราม 9, ทางด่วนขั้นที่ 1 และถนนพระราม 2

แนวเริ่มต้นที่ กม.10+700 ถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างซ้อนทับตามแนวถนนพระราม 2 จนถึงดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงพระราม 3 ใกล้แยกต่างระดับบางโคล่ จนบรรจบกับทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โดยช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างสะพานใหม่ขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร

ความคืบหน้าโครงการผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว เตรียมเสนอให้บอร์ด กทพ.อนุมัติ ก.ค.นี้ และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ธ.ค. เริ่มประมูลก่อสร้างปี 2560 เสร็จ ก.ค. 2563 คาดว่ามีผู้ใช้ทางประมาณ 1 แสนคันต่อวัน ค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 40 บาท รถ 6-10 ล้อ 80 บาท มากกว่า 10 ล้อ 120 บาท ปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปีตามดัชนีผู้บริโภค

ด้านการลงทุน "กทพ." จะลงทุนเอง โดยระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) กว่า 2 หมื่นล้านบาทมาก่อสร้าง ส่วนค่าเวนคืน 2,200 ล้านบาท จะใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และคาดว่าโครงการนี้จะได้รับไฟเขียวในไม่ช้า หลังกระทรวงคมนาคมจัดให้อยู่ในแผนลงทุนเร่งด่วนปี 2560