Cr. ฐานเศรษฐกิจ 2 ธันวาคม 2558
ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับ 2 มหาอำนาจ จีนและญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงการรถไฟ ประเมินแล้วโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นน่าจะแซงหน้าจีนในนาทีสุดท้าย เมื่อทีมโรดโชว์แดนปลาดิบของ รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ได้ลงนามความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเส้นทางกาญจนบุรี-กทม.-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-สระแก้ว ปาดหน้าไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
สั่ง”สมคิด-ประวิตร” แก้ปมช้า
ต่างจากโครงการรถไฟทางคู่ความเร็วปานกลางขนาด 1.435 เมตรระหว่างไทยกับจีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด กลับ “อืด”กว่าโรดแมปที่ตั้งไว้แต่แรกว่าในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถตอกเสาเข็มได้ เรื่องนี้ทำเอานายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถึงกับออกมาว้าก กลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (24 พ.ย.58 ) พร้อมทั้งสั่งการให้ 2 รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เร่งหารือกับจีนเพื่อหาข้อสรุปอย่างเร่งด่วน
หลังพบว่าแม้จะมีการประชุมร่วม คณะกรรมการบริหารร่วมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีนมาแล้วถึง 8 ครั้งแต่กลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ข้อเท็จจริงทำได้เพียงการวางศิลาฤกษ์ เปิดศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถ (OCC ) ที่สถานีเชียงรากน้อย ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นว่าโครงการนี้เดินหน้าแน่นอน พร้อมกับกำหนดเป้าหมายใหม่ว่าจะตอกเสาเข็มให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2559
ดอกเบี้ยสูง-งบบานแสนล้าน
ทั้งนี้อุปสรรคใหญ่มาจากเรื่องของเม็ดเงินลงทุนที่เดิมตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เงินลงทุนในราว 4 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดฝ่ายจีนเสนอตัวเลขล่าสุดกลับบานปลายมากถึง 5 แสนล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มมาอีก 1 แสนล้านบาทฝ่ายจีนอ้างว่าเป็นเพราะความยากลำบากของการก่อสร้าง ต้องใช้เทคนิคแยะ ทั้งต้องเจาะอุโมงค์ มีการสร้างสะพานถึง 75 % ของโครงการ จนเป็นสาเหตุให้เม็ดลงทุนแพงกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยซึ่งฝ่ายจีนคิดในอัตราสูงถึง 2.5 % แต่ฝ่ายไทยต้องการอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 2 % จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถตกลงกันได้
เรื่องนี้ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้ความเห็นว่า หากจีนยืนยันที่จะปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยเกินกว่า 2 %ต่อปี คลังก็สามารถหาแหล่งเงินกู้ในประเทศได้และยังบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีกว่า
ฝ่ายเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “หนิง ฟู่ ขุย” ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านั้นว่า อัตราดอกเบี้ยที่ฝ่ายจีนให้กับไทยนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุนของการแสวงหาแหล่งเงินจากต่างประเทศแน่นอน และย้ำว่าต้องการประคับประคองให้โครงการนี้สำเร็จ
ฝันเชื่อมทั่วภูมิภาค
ขณะที่โครงการรถไฟสายนี้นับเป็นความหวังของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ศสช.) ที่จะผลักดันให้เป็นผลงานชิ้นโบแดง เพื่อให้เกิดการเชื่อมคมนาคมขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารในภูมิภาค จากจีนมาลาวผ่านไทยและเชื่อมโยงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ในอนาคตและได้มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างผู้นำของ 2 ประเทศไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 หลังผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งกรอบความร่วมมือ ผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกทั้งยังได้ถูกบรรจุไว้ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานการขนส่งของไทย ปี 2558- 2565
จึงมีความพยายามอย่างเต็มที่ทั้งขณะที่ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นหัวโต๊ะในการเจรจาฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายจีนแต่งตั้งผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วมมีความพยายามในการแบ่งออกเป็น 4 ช่วง เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ
ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – แก่งคอย ระยะทาง 133.0 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 แก่งคอย – มาบตาพุด ระยะทาง 264.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย – นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 นครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355.0 กิโลเมตร ทั้งจะประเดิมก่อสร้างช่วงที่ 1 และ3 ก่อน
นอกจากนี้ยังแบ่งหน้าที่กันชัดเจนระหว่างไทยและจีน ฝ่ายจีนจะทำการสำรวจออกแบบ ฝ่ายไทยรับผิดชอบเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA) และจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐาน เช่น พื้นที่ เส้นทาง สถานที่ก่อสร้างสถานี และภาพถ่ายดาวเทียม เป็นต้น
แต่สุดท้ายโครงการก็ยังล่าช้า กระทั่ง “บิ๊กตู่” ถึงกับออกมาเต้นกลางที่ประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,109 วันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 255