Cr. ประชาชาติธุรกิจ 19 เมษายน 2559
หลังสงกรานต์นี้หากไม่เจอโรคเลื่อน จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 10 ณ ประเทศจีน มี "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เป็นผู้นำทีม เพื่อหาข้อสรุปรายละเอียดของโปรเจ็กต์นำร่อง "กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา" ระยะทาง 250 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท หลังเขย่าสูตรลงทุนใหม่เป็น "รัฐบาลไทย" ลงทุนงานโยธาและให้เอกชนไทยหรือจีนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP งานระบบและเดินรถ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีจากจีนและสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม.
ด้วยสถานะของโครงการนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 รัฐบาลไทยและจีน จึงเป็นระบบอื่นไปไม่ได้ นอกจากเมดอินไชน่าเท่านั้น แต่จะมาทั้งดุ้นหรือผสมกับเทคโนโลยียุโรปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่ "รัฐบาล คสช." ต้องตอบข้อกังขาของทุกฝ่ายให้เคลียร์กับปมปัญหาคาใจ ทำไมต้องเป็นระบบจีน ทำไมไม่เปิดกว้างให้ประเทศอื่นร่วมแข่งขัน
ในเมื่อ "จีน" ล้มดีลสูตรลงทุนเอง หลังระบุว่าไม่สามารถตอบประชาชนในประเทศได้ว่า ทำไมถึงขนเงินมาลงทุนในประเทศไทยทั้งโครงการ 60% คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท ขณะที่เทคโนโลยีก็ต้องนำเข้าจากจีนอยู่แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการรถไฟไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ยังคงเป็นความร่วมมือจีทูจี (รัฐต่อรัฐ) กับจีน เพราะมีข้อตกลง MOU การซื้อข้าวและยางพาราร่วมกันอยู่ ที่จะใช้เงินจากการขายข้าวและยางพารามาเป็นค่าก่อสร้างรถไฟที่เซ็น MOU ไว้ และเป็นไปตามกรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีนลงนาม วันที่ 3 ธ.ค. 2558
ขณะเดียวกันไทยมีการเดินหน้าร่วมมือกับจีนมาในหลายส่วน รวมทั้งมีการศึกษาร่วมกัน ตลอดจนเทคโนโลยีรถไฟจีนเป็นที่ยอมรับระดับสากล ดังนั้น การดำเนินการนี้ยังคงเป็นไปในลักษณะของความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศต่อไป แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ที่สำคัญเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกว่า 40 ปี
"รถไฟความเร็วสูงสายอีสานระยะแรก ยังไงต้องใช้ระบบเทคโนโลยีของจีน ตามที่เซ็น MOU ไว้ เพราะรัฐบาลอยากให้เกิดการเริ่มต้นในรัฐบาลชุดนี้ และตั้งเป้าให้เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ จึงตัดสินใจจะลงทุนเอง เป็นการ back to basic เพราะไม่ทำตอนนี้ ไม่รู้จะได้ทำเมื่อไหร่ การประชุมครั้งที่ 10 จะต่อรองค่าก่อสร้างจีนจาก 1.9 แสนล้านบาท เหลือ 1.7 แสนล้านบาทตามที่ไทยศึกษาไว้ ส่วนจะเริ่มสร้างในปีนี้ได้หรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้" แหล่งข่าวกล่าวและว่าในอนาคตสำหรับเส้นทางที่เหลือ จากนครราชสีมา-หนองคายและแก่งคอย-มาบตาพุด อาจจะไม่ใช้ระบบของจีนก็ได้ เพราะปัจจุบันระบบเทคโนโลยีของจีน เป็นระบบเปิด สามารถรองรับรถไฟฟ้าจากประเทศอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป เนื่องจากรถไฟของจีน ซึ่งผลิตอยู่ที่ฉางชุน จะเป็นโรงงานที่ได้รับการเซตอัพระบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากซีเมนส์ ก็มีความเป็นไปได้ รุ่นรถที่เสนอให้ไทยจะเป็นอะไหล่จากยุโรปผสมบางส่วนที่ผลิตจากจีน และนำมาประกอบที่โรงงานจีน
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับรูปแบบการลงทุน จะมีทั้งจีทูจีและ PPP (รัฐ+เอกชน) ยังไม่สามารถระบุได้ขณะนี้ จะจีทูจีกับจีนเฉพาะงานราง อุโมงค์ ที่ไทยไม่มีเทคโนโลยี ส่วนรูปแบบ PPP อาจจะเป็นงานระบบและเดินรถ ให้เอกชนร่วมลงทุนสัดส่วน 30% หรือประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท หรือเฉพาะการพัฒนาที่ดินโดยรอบสถานี ขณะที่ "SPV-บริษัทร่วมทุน" อาจจะไม่มีก็ได้
ทุกอย่างยังไม่มีข้อสรุป เมื่อคนทำคิดตามไม่ทัน เพราะนึกไม่ถึงว่า "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" จะตัดบทกลางอากาศ กลับมาสู่ "ไฮสปีดเทรน" เวอร์ชั่นประชารัฐ มีรัฐ-เอกชนร่วมลงขันผลักดันโครงการกันในที่สุด