สนข.เร่งสปีดตั๋วร่วมระบบคมนาคมขนส่ง ล่าสุดโครงสร้างระบบชัดเจนแล้วเตรียมออกแบบให้สอดคล้องกับศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง คาดพร้อมทดสอบระบบก.พ. 59 ก่อนใช้งานอย่างเป็นทางการส.ค.59 ชี้ยกบีทีเอส-แอร์พอร์ตลิงค์- MRT ใส่พานนำร่องใช้งานก่อนขยายสู่ระบบอื่นต่อไป เผยจุดเด่นรองรับได้ 64 ประเภทผู้ใช้งาน
นายเผด็จ ประดิษฐเพชร รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าล่าสุดผลการออกแบบระบบตั๋วร่วมและรูปแบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(Central Clearing House :CCH)มีความคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งกลุ่มบีเอสวีที่ประกอบด้วยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (บีทีเอสซี) บริษัท สมาร์ท ทราฟฟิค จำกัด บริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด ได้ดำเนินการออกแบบมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 และจะสิ้นสุดวันที่ 15 สิงหาคม 2560ทำให้ศูนย์ CCH จะดำเนินการโดยให้บริการหักระบบบัญชี(Clearing) ค่าบริการระหว่างผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนและค่าสินค้าหรือบริการนอกภาคการขนส่งที่เข้าร่วมกับระบบตั๋วร่วม การพัฒนาระบบต้นแบบต่างๆที่ใช้กับระบบทางพิเศษ และระบบขนส่งมวลชนทางราง ระบบค้าปลีก และการชำระโดยโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานและทดสอบระบบได้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และคาดว่าสามารถเชื่อมต่อระบบพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือนสิงหาคม 2559
ระบบตั๋วร่วมนี้สามารถออกแบบรองรับได้ 4 ประเภทหลัก คือ 1.ผลิตภัณฑ์มูลค่าร่วม รองรับผู้ใช้บริการทุกราย เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆทั้งในและนอกภาคการขนส่ง 2.ผลิตภัณฑ์เที่ยวการเดินทาง รองรับได้มากถึง 63 ประเภท สามารถกำหนดประเภทขนส่งที่จะใช้งานได้ อาทิ ทุกภาคการขนส่ง เฉพาะรถไฟฟ้า เฉพาะรถเมล์ 3.ผลิตภัณฑ์การเดินทางแบบเจาะจงเส้นทาง เช่น กำหนดวันที่ต้องการ อาทิ 30 วัน 60 วัน โดยค่าส่วนลดจะได้รับเมื่อเดินทางตามเส้นทางที่ระบุไว้เท่านั้น และ 4.ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการขาย มีระบบแต้มสะสมที่สามารถแลกเป็นของรางวัลตามที่กำหนดได้“ระบบสามารถรองรับการเพิ่มมูลค่า การเติมเที่ยวเดินทาง การอัพเกรด หรือการชำระค่าปรับสามารถชำระเป็นเงินสด บัตรเครดิตและบัตรเดบิต สามารถรองรับมูลค่าสูงสุด 1 หมื่นบาท สำหรับผู้ถือบัตรประเภทบุคคลทั่วไป และกำหนดมูลค่าสูงสุดแตกต่างกันได้ตามประเภทผู้ถือบัตร ดังนั้นจึงกำหนดให้มีมาตรฐานบัตรที่รองรับกระเป๋าเงินสำหรับเก็บสำรองเงิน ซึ่งสามารถใช้ในการชำระเงินครอบคลุมทั้งภาคขนส่ง และนอกภาคขนส่ง รองรับการใช้งานผลิตภัณฑ์การเดินทางที่สามารถใช้เดินทางได้กับทุกระบบที่เข้าร่วม อีกทั้งการออกแบบยังสามารถรองรับประเภทของบัตรสำหรับกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย ทหารผ่านศึก บุคคลผู้พิการ ได้อีกด้วย โดยระบบสามารถรองรับได้สูงสุด 64 ประเภทผู้ใช้งาน”
อ่านต่อได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/09/15/10870
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3087 วันที่ 13-16 กันยายน พ.ศ. 2558