มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติเมื่อ วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา และมาตรการอุดหนุนการเงินสู่ท้องถิ่นผ่านกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ก่อให้เกิดความคาดหมายว่า ธุรกิจที่ผูกโยงกับตลาดในชนบท อาทิ รถจักรยานยนต์ จักรกลเกษตร หรือ รถปิกอัพ จะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแน่นอน แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คาดหวังอะไรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในครั้งนี้ ?
อสังหาฯ 10 %ของจีดีพี
ภาคอสังหาริมทรัพย์ ถูกเลือกเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆในการ”กระตุ้นเศรษฐกิจ”มาโดยตลอด ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ข้อ ข้อแรก ธุรกิจมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท หรือ มากกว่า 10 % ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีขนาดมากพอจะขยับทิศทางเศรษฐกิจหากมีการเปลี่ยนแปลงไปทางใดทางหนึ่ง ข้อ 2 อสังหาริมทรัพย์ใช้วัตถุดิบในประเทศ 90 % ในการผลิต(สร้างที่อยู่อาศัย) หากภาคอสังหาริมทรัพย์ ขยับ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจะเคลื่อนที่ตาม และข้อ 3 เป็นภาคส่วนที่มีการจ้างงานสูง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้มีข่าวว่าตัวแทนภาคอสังหาริมทรัพย์พยายามผลักดัน มาตรการประเภทลดภาระให้ผู้บริโภค เช่น ลดภาษีการโอน-การจดจำนอง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อยากเห็นมากยิ่งไปกว่านั้นคือ มาตรการประเภทลดภาระผู้ซื้อ คือ มาตรการที่สามารถช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ปฏิเสธคำขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (ทั้งระบบมีมากกว่า 30%)ของแบงก์ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่วงการอสังหาริมทรัพย์ (รวมทั้งแบงก์) เผชิญอยู่และที่อยากเห็นอย่างที่สุดคือ มาตรการที่สามารเพิ่มกำลังซื้อประชาชนได้จริง เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง เช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่นๆและยังมีปัญหาที่มาจาก ดีมานด์เทียม โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมอีกด้วย
อ่านต่อได้ที่ http://www.thansettakij.com/2015/09/15/10867
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3087 วันที่ 13-16 กันยายน พ.ศ. 2558